วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557


ครูกับเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนในอนาคต



ครูกับเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนในอนาคต





โลกเราในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในปัจจุบันจะสังเกตได้ชัดเจนว่าเทคโนโลยีต่างๆนั้นได้มีการพัฒนาอย่างล้ำสมัยซึ่งส่งผลให้เกิดความสะดวกต่อการใช้งานในปัจจุบันและในอนาคต       ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศได้มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตและสังคมของมนุษย์ เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันได้บูรณาการเข้าสู่ระบบธุรกิจ ดังนั้นองค์การที่จะอยู่รอดและมีพัฒนาการต้องสามารถปรับตัวและจัดการกับเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม โดยหัวข้อนี้จะกล่าวถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต เพื่อให้ผู้บริหารในฐานะหัวใจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์การได้ศึกษา แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศอาจทำให้เทคโนโลยีที่กล่าวถึงในที่นี้ล้าสมัยได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารที่สนใจจะต้องศึกษาติดตามความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญในอนาคตมี ดังนี้   

      1.คอมพิวเตอร์ (computer) ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาไปจากยุคแรกที่เครื่องมีขนาดใหญ่ทำงานได้ช้า ความสามารถต่ำ และใช้พลังงานสูง เป็นการใช้เทคโนโลยีวงจรรวมขนาดใหญ่ (very large scale integrated circuit : VLSI) ในการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ (microprocessor) ทำให้ประสิทธิภาพของส่วนประมวลผลของเครื่องพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาหน่วยความจำให้มี ประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่มีราคาถูกลง ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปัจจุบัน โดยที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในขณะที่มีความสามารถเท่าเทียมหรือมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในสมัยก่อน ตลอดจนการนำคอมพิวเตอร์ชนิดลดชุดคำสั่ง (reduced instruction set computer) หรือ RISC มาใช้ในการออกแบบหน่วยประเมินผล ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้เร็วขึ้นโดยใช้คำสั่งพื้นฐานง่าย ๆ นอกจากนี้พัฒนาการและการประยุกต์ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ส่งผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์มีการประมวลผลตามหลักเหตุผลของมนุษย์หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป  

        2.ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI เป็นการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้มีความสามารถที่จะคิดแก้ปัญหาและให้เหตุผลได้เหมือนอย่างการใช้ภูมิปัญญาของมนุษย์จริง ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในหลายสาขาวิชาได้ศึกษาและทดลองที่จะพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานที่มีเหตุผล โดยการเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งความรู้ทางด้านนี้ถ้าได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ อย่างมากมาย เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างผู้เชี่ยวชาญ และหุ่นยนต์ (robotics) เป็นการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ให้สามารถปฏิบัติงานและใช้ทักษะการเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับการทำงานของมนุษย์ เป็นต้น    

      3. ระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร (executive information system) หรือ EIS เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศที่สนับสนุนผู้บริหารในงานระดับวางแผนนโยบายและกลยุทธ์ขององค์การโดยที่ EIS จะถูกนำมาให้คำแนะนำผู้บริหารในการตัดสินใจเมื่อประสบปัญหาแบบไม่มีโครงสร้างหรือกึ่งโครงสร้าง โดย EIS เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่พิเศษของผู้บริหารในด้านต่าง ๆ เช่น สถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์การ รวมทั้งสถานะของคู่แข่งขันด้วย โดยที่ระบบจะต้องมีความละเอียดอ่อนตลอดจนง่ายต่อการใช้งาน เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากไม่เคยชินกับการติดต่อและสั่งงานโดยตรงกับระบบคอมพิวเตอร์    

      4. การจดจำเสียง (voice recognition) เป็นความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้คอมพิวเตอร์จดจำเสียงของผู้ใช้ ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีสาขานี้ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการ ถ้าในอนาคตนักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการนำความรู้ต่าง ๆ มาใช้สร้างระบบการจดจำเสียง ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลแก่การใช้งานคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยที่ผู้ใช้จะสามารถออกคำสั่งและตอบโต้กับคอมพิวเตอร์แทนการกดแป้นพิมพ์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ไม่เคยชินกับการใช้คอมพิวเตอร์ให้สามารถปรับตัวเข้ากับระบบได้ง่าย เช่น ระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหารระดับสูง การสั่งงานระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ และระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและขยายคุณค่าเพิ่มของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อธุรกิจ      

     5. การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (electronics data interchange) หรือ EDI เป็นการส่งข้อมูลหรือข่าวสารจากระบบคอมพิวเตอร์หนึ่งไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์อื่นโดยผ่านทางระบบสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การส่งคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อไปยังผู้ขายโดยตรง ปัจจุบันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะช่วงลดระยะเวลาในการทำงานของแต่ละองค์การลง โดยองค์การจะสามารถส่งและรับสารสนเทศในการดำเนินธุรกิจ เช่น ใบสั่งซื้อและใบตอบรับผ่านระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่มีอยู่ ทำให้ทั้งผู้ส่งและผู้รับไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง           

      6. เส้นใยแก้วนำแสง (fiber optics) เป็นตัวกลางที่สามารถส่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยการส่งสัญญาณแสงผ่านเส้นใยแก้วนำแสงที่มัดรวมกัน การนำเส้นใยแก้วนำแสงมาใช้ในการสื่อสารก่อให้เกิดแนวความคิดเกี่ยวกับ “ ทางด่วนข้อมูล (information superhighway)” ที่จะเชื่อมโยงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีเส้นใยแก้วนำแสงได้ส่งผลกระทบต่อวงการสื่อสามวลชนและการค้าขายสินค้าผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์


7. อินเทอร์เน็ต (internet) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงไปทั่วโลก มีผู้ใช้งานหลายล้านคน และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่สมาชิกสามารถติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนค้นหาข้อมูลจากห้องสมุดต่าง ๆ ได้ ในปัจจุบันได้มีหลายสถาบันในประเทศไทยที่เชื่อมระบบคอมพิวเตอร์กับเครือข่ายนี้ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นต้น     

     8. ระบบเครือข่าย (networking system) โดยเฉพาะระบบเครือข่ายเฉพาะพื้นที่ (local area network : LAN) เป็นระบบสื่อสารเครือข่ายที่ใช้ในระยะทางที่กำหนด ส่วนใหญ่จะภายในอาคารหรือในหน่วยงาน LAN จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้สูงขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การใช้ข้อมูลร่วมกัน และการเพิ่มความเร็วในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ระบบเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังผลักดันให้เกิดการกระจายความรับผิดชอบในการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศไปยังผู้ใช้มากกว่าในอดีต           

       9. การประชุมทางไกล (teleconference) เป็นการนำเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายโทรทัศน์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคมผสมผสาน เพื่อให้สนับสนุนในการประชุมมีประสิทธิภาพ โดยผู้นำเข้าร่วมประชุมไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้องประชุมและพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยเฉพาะในสภาวะการจราจรที่ติดขัด ตลอดจนผู้เข้าประชุมอยู่ในเขตที่ห่างไกลกันมาก        

       10. โทรทัศน์ตามสายและผ่านดาวเทียม (cable and sattleite TV) การส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านสื่อต่าง ๆ ไปยังผู้ชม จะมีผลทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น โดยที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ได้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ชมรายการมีทางเลือกมากขึ้นและสามารถตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ ได้เหมาะสมขึ้น    

        11. เทคโนโลยีมัลติมีเดีย (multimedia technology) เป็นการนำเอาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาจัดเก็บข้อมูลหรือข่าวสารในลักษณะที่แตกต่างกันทั้งรูปภาพ ข้อความ เสียง โดยสามารถเรียกกลับมาใช้เป็นภาพเคลื่อนไหวได้ และยังสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ด้วยการประยุกต์เข้ากับความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ เช่น หน่วยความจำแบบอ่านอย่างเดียวที่บันทึกในแผ่นดิสก์ (CD-ROM) จอภาพที่มีความละเอียดสูง (high resolution) เข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อจัดเก็บและนำเสนอข้อมูล ภาพ และเสียงที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีมัลติมีเดียเป็นเทคโนโลยีที่ตื่นตัวและได้รับความสนใจจากบุคคลหลายกลุ่ม เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา โฆษณา และบันเทิงเป็นอย่างมาก      

      12. การใช้คอมพิวเตอร์ในการฝึกอบรม (computer base training) เป็นการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ หรือการนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยในด้านการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน (computer assisted instruction) หรือ CAI” การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการสอนเปิดช่องทางใหม่ในการเรียนรู้ โดยส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ ตลอดจนปรัชญาการเรียนรู้ด้วยตนเอง          

      13. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ (computer aided design) หรือ CAD เป็นการนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบข้อมูลเข้ามาช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งรูปแบบหีบห่อของผลิตภัณฑ์หรือการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยทางด้านการออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมให้มีความเหมาะสมกับความต้องการและความเป็นจริง ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในการออกแบบ โดยเฉพาะในเรื่องของเวลา การแก้ไข และการจัดเก็บแบบ         

      14. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต (computer aided manufacturing) หรือ CAM เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์จะมีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือได้ในการทำงานที่ซ้ำกัน ตลอดจนสามารถตรวจสอบรายละเอียดและข้อผิดพลาดของผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยประหยัดระยะเวลาและแรงงาน ประการสำคัญ ช่วยให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอตามที่กำหนด            

     15. ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (geographic information system) หรือ GIS เป็นการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์ทางด้านรูปภาพ (graphics) และข้อมูลทางภูมิศาสตร์มาจัดทำแผนที่ในบริเวณที่สนใจ GIS สามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เช่น การวางแผนยุทธศาสตร์ การบริหารการขนส่ง การสำรวจและวางแผนป้องกันภัยธรรมชาติ การช่วยเหลือและกู้ภัย เป็นต้น





เราจะเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศจะเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราต้องพยายามติดตาม ศึกษา และทำความเข้าใจแนวทางและพัฒนาการที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมต่อการใช้งานในอนาคต 




ขอขอบคุณแหล่งที่มา vcharkarn.com


วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทิศทางการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต

ทิศทางการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารักษ์  ชัยมงคล
อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาการบริหารการศึกษา




                     บทความชิ้นนี้เป็นบทย่อความจากงานแปลเรื่อง “Future Direction in Human  Resource  Development  (HRD)  Practice : Chapter  II)  ของ  Lyle  Yorks  (2005)  และรายงานการบรรยายของ  Professor  Dr. William  Ball  จาก  Michigan  University  เรื่อง  “Oragnizations  and  Management  in  Tommorow’s  World”  ซึ่งสรุปความได้ว่า
                        Lyle  Yorks  กล่าวถึง  การทำนายกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  (HRD)  ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดภาวะเสี่ยงทางธุรกิจ  (Risky  Business)  ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่  21  การจะเข้าสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญได้นั้นคงต้องอาศัยกลยุทธ์การเรียนรู้ซึ่งนำมาจากความรู้สึกของความไม่แน่นอนจากความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  ฉะนั้น  ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพทางด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้พยายามจัดเตรียมแบบอย่างที่มีคุณค่าต่อการดำเนินงานขององค์การของเขาและสำคัญที่สุดคอยติดตามและเฝ้าดูผลการทำงานในการประกอบอาชีพของตนอย่างต่อเนื่อง
                        Yorks  ได้อ้างถึงแนวคิดของเชอร์มัค,  ลินแฮมและเราน่า  (Chermack, Lynham  and  Ruona)  ที่กล่าวถึง  แนวโน้มภาวะวิกฤตและความไม่แน่นอนก่อผลกระทบต่อการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  จากแนวโน้มทางสังคม  เศรษฐกิจและการฝึกฝนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันจนเกิดเป็นศักยภาพที่ก่อผลกระทบต่อการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  โดยอ้างถึงแนวคิดของฮอดจ์สันและชวาสซ์  (Hodson  and  Schwartz)  ที่กล่าวว่า  แนวโน้มการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตมีผลกระทบที่ไม่แน่นอนและเป็นภาวะวิกฤตที่รุนแรงเพราะว่าไม่สามารถคาดเดาไว้ล่วงหน้าได้  ซึ่งเชอร์มัคและคณะได้สรุปถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบการดำเนินงาน  6  ประการคือ
                        1.  การแข่งขันด้านความรู้ความชำนาญและทักษะเฉพาะด้านในระดับสูง  (Competition  for  the Expertise  Elite) 
                        2.  โลกาภิวัฒน์  (Globalization) 
                        3.  สถานที่หรือที่ทำงานในการควบคุมการดำเนินการขององค์การหรือบุคลากร  (Locus  of  Control  Qrganizational  or  Individual) 
                        4.  ความรู้ความสามารถด้านการตลาด  (Marketability  of  Knowledge)
                        5.  ยุคสมัยต่อไป  (Next  Age)  และ
                        6.  ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  (Technological  Explosion) 
                        ลำดับแรก  2 ประการสำคัญคือ  ความก้าวหน้าของโลกาภิวัฒน์และการเกิดนวัตกรรมใหม่ทางด้านเทคโนโลยี  เราไม่สามารถพยากรณ์หรือคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร  ลำดับถัดมาคือการเข้าถึงตลาดเพราะเราไม่สามารถจำแนกหรือเข้าใจถึงความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างแน่นอน  ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่สำคัญ  เราไม่รู้ว่าความรู้ด้านการบริหารธุรกิจเป็นอย่างไร  (We  are  not  in  the  Knowledge Management  Business)” 
                        ส่วนผลกระทบลำดับสุดท้าย  3  ประการ  กล่าวคือ  ในยุคสมัยต่อไปความรู้ความสามารถแบบเดิมจะล้าสมัย  พฤติกรรมองค์การจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ความรู้ใหม่  มีความเป็นร่วมสมัยและคนที่มีคุณภาพขององค์การจะมีลักษณะเชาวน์ปัญญาดี  รู้จักการปรับตัวและมีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว    องค์การจะมีการปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตามกลยุทธ์ด้านโอกาสและเงื่อนไขทางด้านธุรกิจ  การจัดเตรียมคนจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายขอบเขตให้กว้างขวางออกไปเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในอนาคต


                        การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือบ้านซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้และการประกอบธุรกิจที่สำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับรากฐานทางสังคมกับความเข้าใจเรื่อง  ระบบเศรษฐกิจใหม่  ที่มิใช่เฉพาะความต้องการด้านผลกำไรเหมือนอดีตเพียงเท่านั้น  แต่การดำรงอยู่ในระบบอย่างยาวนานและยั่งยืนก็คือความสามารถในการปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา  ซึ่งอาจจะเรียกให้เหมาะสมที่สุดก็คือ  ยุคแห่งข้อมูลข่าวสารสนเทศ  (Information  Age)”  หรือ  ยุคแห่งความรู้  (Knowledge  Age)”  และที่สุดสถานที่สำหรับการประกอบธุรกิจไม่จำเป็นต้องอาศัยสถานที่ที่ใหญ่โตและมีพนักงานจำนวนมากเหมือนในอดีต  นักธุรกิจจะอยู่พื้นที่ใดของโลกก็ได้ขอให้มีเพียงโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ทได้ ซึ่งมีลักษณะเป็น  E – Commerce  ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานร่วมกันในทุกระดับได้ด้วย  นอกจากนี้การระดมความคิดเห็นใช้การประชุมแบบเสมือนจริงที่ผู้เข้าร่วมประชุมอยู่กันคนละสถานที่แต่สามารถร่วมประชุมกันได้โดยอาศัยอุปกรณ์โทรคมนาคม  เช่น โทรทัศน์วงจรปิด  (Virtual Teleconferences) ฯลฯ  หรือจากเครือข่ายพื้นฐานจากห้องคุยกัน (Web – base Chat  Rooms)  โดยอาศัยความเชื่อมั่นในการคัดเลือกเครือข่ายที่มีมาตรฐาน
                        การลดขนาดองค์การและการจัดการให้มีขนาดเล็กลง  (Authoritarian  Control  and  Micromanagement)  จากกระบวนการที่เรียกว่า  Down  Sizing  เป็นการลดขนาดองค์กรให้เล็กลง  ย่นเส้นทางการบังคับบัญชาให้สั้นและรวดเร็วแต่มีประสิทธิภาพประเภท  จิ๋วแต่แจ๋ว 
                        และได้นำเสนอความคิดของเบนสัน,  จอห์นสันและคูชิงเก้  (Benson, Johnson  and  Kuchinke)  จำแนกการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็น  3  ลักษณะที่มีผลกระทบต่อการเป็นเจ้าของกิจการในยุคที่เปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิตอลมากยิ่งขึ้น  ซึ่งประกอบด้วย
                        1.  ขอบเขตการวิเคราะห์ความต้องการและการออกแบบโปรแกรม  (The  Scope  of  needs  Analysis  and  the  Design  of  Programs) 
                        2.  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝึกอบรมหรือผู้ให้การศึกษากับผู้เรียนในกระบวนการเรียนรู้  (The  Relationship  between  Trainers/Educator  and  Learners  in  the  Learning  Process) 
                        3.  โอกาสในการปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ  (Enhanced opportunities  for  Informal  Learning) 
                        ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประเมินการออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้เป็น  2  แนวทาง  คือ  ทักษะทางด้านเทคโนโลยีของผู้เรียนและระดับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและได้นำความคิดของลี,  โอเวนและเบนสัน  (Lee, Owen  and  Benson) ที่สรุปว่า  การออกแบบอะไรนั้นควรได้พิจารณาถึงการเรียนรู้และระบบที่ดีที่สุดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโปรแกรม  การออกแบบต้องอาศัยข้อมูลจากภายนอกและระดับ          ของผู้สอนกับเทคนิคของผู้เรียนประกอบกันเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความสำเร็จของระบบ  การพิจารณาถึงความจำเป็น  2  ประการ  คือ  ทฤษฎีการเรียนรู้  (Learning  Theory)  และความสามารถทางด้านเทคโนโลยี (Abliity  of  Technology)  โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์  (E – learning  Technology)  ซึ่งมีลักษณะเป็นคนที่มีทักษะใหม่  ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพทางด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งหลายเชื่อว่าแนวโน้มจะมีผู้สมัครเรียนเทคโนโลยีเหล่านี้จนเกิดความรู้ความสามารถและมีความชำนาญที่มีศักยภาพเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น  ซึ่งบทสรุปจากบทความของ  Lee  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ผู้เรียนกับเทคโนโลยีจะเป็นเพื่อนคู่ขากันอย่างต่อเนื่อง  โดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีจะค่อย ๆ ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเชี่ยวชาญในโอกาสต่อไป  ฉะนั้น  งานด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากขึ้นทุกที่ในเครือข่ายการเรียนรู้พื้นฐานรวมทั้งโครงการที่มีความสลับซับซ้อนสำหรับทักษะระดับการจัดการและบูรณาการร่วมกับเนื้อหาความรู้ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ  ผู้ออกแบบการสอนหรือผู้แนะนำรวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตสื่อการเรียนรู้เหล่านั้นด้วย
                        นอกจากนั้น  Lee  ยังมีความเชื่อว่ารายละเอียดต่าง ๆ ในการเรียนรู้จะทำให้การทำงานเกิดทักษะและง่ายขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบตัวต่อตัว  แม้แต่ปัญหาจากความคิดเห็นที่ขัดแย้งยิ่งทำให้เกิดความสามารถเฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบที่ต้องอาศัยกระบวนการผสมผสานเทคนิควิธีและปัจจัยประกอบอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ
                        เบนสันและคณะ.  (Benson  et  al.)  เสนอข้อสังเกต  ศักยภาพที่สมบูรณ์ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกสามารถสนับสนุนการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ  สอดคล้องกับความคิดของเดนเนนและหวัง  (Dennen  and  Wang)  ได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไว้ว่า  เราสามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนโอกาสหรือวิธีการเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทางเทคโนโลยี  ซึ่งประกอบด้วยลักษณะ  2  ประการคือ 
                        1.  การเรียนรู้ในการพิจารณาการจัดการที่มีประสิทธิภาพ (Learning  how  to  Eonduct  Efficien  Searchs)  และ
                        2.  การเรียนรู้ในการเข้าร่วมหรือก่อตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย  (Learning  how  to  Establish  the Validity  of  what  they  Aecess)
                        การบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์การใดที่มีความสามารถในการจัดการองค์ความรู้  (Knowledge  Management)  ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ด้านความรู้ความสามารถที่ขัดแย้งกันภายในสนามแข่งขันระหว่างการบริหารการพัฒนาทรัพยากรกับเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ  (Human Resource Development  and Information Technology/HRD and IT)  องค์การใดจะครอบคลุมขอบเขตหรืออาณาจักรการจัดการองค์ความรู้ได้มากกว่ากัน  ในความเป็นจริงถ้าทั้งสองฝ่ายร่วมกันคิดร่วมกันทำจะมีส่วนช่วยให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้รับการสนับสนุนและเกิดศักยภาพในความร่วมมือให้บรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ตกลงกันไว้ได้
                        ถึงแม้ว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงความจริงใจของแต่ละฝ่าย  แต่กระแสแห่งแฟชั่นในโลกปัจจุบันก็พยายามบีบบังคับให้เกิดการเรียนรู้ช่องว่างระหว่างกลางแห่งองค์ความรู้เหล่านั้นไม่ว่าจะใช้วิธีการประนีประนอมหรือผสมผสานการใช้ประโยชน์กับเทคโนโลยี  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถทำให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและช่วยประสานความร่วมมือร่วมใจตามทักษะที่กำหนดไว้ตามเกณฑ์ขั้นพื้นฐานเพื่อจะได้นำเข้าสู่โปรแกรมการเรียนรู้ที่ได้เลือกสรรไว้อย่างเหมาะสม
                        โลกาภิวัฒน์สามารถให้ทางเลือกแก่กิจการแต่ละองค์การในการจะเลือกเข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์หรือไม่  อย่างไรก็ดีโปรแกรมการฝึกอบรมทั้งหลายของแต่ละองค์การสามารถก่อประโยชน์จากเอกสาร  ตำราหรือหนังสือ  รวมทั้งสื่อมวลชนที่หลากหลาย  เช่น  โทรทัศน์  วิทยุและหนังสือพิมพ์  ฯลฯ  (Text  Multimedia)  ครอว์ฟอร์ด  เบอเวอริดจ์  (Crawford Beveridge)  ประธานกรรมการบริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ของซันไมโครซิสเท็มส์  (Sun  Microsystems)  เน้นความคิดในการก่อตั้งสถาบันสำหรับการเรียนรู้ของทีมงานในหลายประเทศเพราะตระหนักถึงความหมายและความสำคัญต่อความท้าทายและการแข่งขันด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                        ความแตกต่างระหว่างกลุ่มพลังและกลุ่มพลวัตรใหม่กับกลุ่มประเพณีวัฒนธรรมแบบเก่า ๆ จะให้ความสำคัญกับการพิจารณาไตร่ตรองเพื่อการออกแบบการเรียนรู้ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายซึ่งเปรียบเทียบระหว่างองค์การแบบใหม่ของสหรัฐอเมริกากับแบบวัฒนธรรมเก่าของเกาหลีใต้  เป็นประเด็นสำคัญทำให้เกิด  Kim’s  Point  ซึ่ง  คิม  (Kim)  กล่าวว่า  ถึงแม้นวัตกรรมใหม่ขององค์การจะกำหนดสถานที่ที่มีความพิเศษเฉพาะสามารถเคลื่อนไหวได้ทั่วไปเพื่อตอบสนองการทำงานของยุคโลกาภิวัฒน์  ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เน้นถึงความร่วมมือในการเรียนรู้พฤติกรรมที่ผูกติดกับวัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นในที่นี้ได้อธิบายถึง  บทบาทความรับผิดชอบและการเปลี่ยนแปลง  (Responsibility  and  Changes)”  ซึ่งประกอบด้วยประเด็นต่าง ๆ  12  ประการ  คือ
                        1.  การสร้างความร่วมมือระหว่างงานวิจัยกับแบบแผนการปฏิบัติ  (Creating  Synergy  between  Research  and  Practice) 
                        2.  การพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงขึ้นทำให้การเรียนรู้เกี่ยวกับคนและสังคมหายไป  (Leveraging  Technology  without  Losing  the  Human  and  Social  Compoment  of  Learning) 
                        3.  การสร้างความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว  (Striking  a  Balance  between  and  Personal  Life)
                        4.  ความตั้งใจที่จะนำความคิดสร้างสรรค์ให้ที่ทำงานมีความเมตตากรุณาความเอื้ออาทรต่อกัน  (Striving  Toward  the  Creation  of  Humane  Workplace) 
                        5.  ยอมรับทุนทางปัญญามีความสำคัญที่สุดรวมทั้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระดับล่างขององค์การ (Acknowlegding Intellectual Capital as Lifeblood or Truebottom Line of  Organizations)
                        6.  การพัฒนาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  (Developing  Social  Responsibility) 
                        7.  ความร่วมมือหรือการเป็นหุ้นส่วนในบทบาทการศึกษาภาวะการเปลี่ยนแปลง  (Part  nering  in  the  Changing  Role  of  Education)
                        8.  การพัฒนาการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนทั้งภายในและภายนอกองค์การ  (Developing  Collaborative  Partnerships  Bothinside  and  Outside  the  Organization)
                        9.  การเข้าร่วมรับรู้โลกาภิวัฒน์  (Embracing  Globalization)
                        10.  ความหลากหลายทางวัฒนธรรม  (Multiculturalism)
                        11.  การจัดการองค์ความรู้และการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  (Managing  Knowledge  and  Learning  Effectively)
                        12.  สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  (Fostering  Lifelong  Learning)

บทสรุป
                        ตลอดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง  การบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นกระบวนการเพื่อการเตรียมตัวเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อความมั่นคงในระบบสังคมและเศรษฐกิจที่มีพลังอันเข้มแข็งโดยเฉพาะเทคโนโลยีและโลกาภิวัฒน์จะเป็นพลังขับเคลื่อนต่อความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีสิ่งที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องต่อความมีคุณค่าต่อผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมและโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  การพัฒนาองค์การสู่องค์การแห่งการเรียนรู้  เพื่อจะชนะในการแข่งขันซึ่งประกอบด้วย 2  แนวทาง  คือ  การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  (Continuos  Improvement)  และการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรอัจฉริยะหรือองค์การแห่งการเรียนรู้  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่  21  จึงเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ  (Integration  Development) 
 
 ความคิดเห็นของผู้แปล
                จากการแปลและศึกษาเนื้อหาความรู้สรุปได้ว่า  อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนมีประเด็นที่อาจจะก่อผลกระทบมากมายโดยเฉพาะการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  (HRD)  ดังที่  Lyle  Yorks  ได้นำเสนอความคิดของ  Chermack  และคณะ  ประการ  Benson  และคณะของประเด็นบทบาท  HRD  ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น  Denen  และ  Wang  เสนอความคิดสนับสนุนการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ  และ  Kim  พยายามนำปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงอยู่ในองค์การอย่างเหมาะสมกับกาลเวลาและความเรียบง่ายด้วย  Kim’s  point  12  ประการ  เมื่อหลอมความรู้ทั้งหมดพอสรุปได้เป็นประเด็นสำคัญคือเมื่อกระแสโลกได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว  องค์การทุกองค์การจะปรับตัวเองให้สอดคล้องและเคลื่อนไหวตามอย่างเหมาะสมเพื่อให้กิจการของตนดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะกระบวนการ  HRD  เป็นตัวขับเคลื่อนอย่างสำคัญโดยอาศัยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นตัวเร่งที่มีพลวัตรในตัวมันเองแต่ก็ต้องไม่พยายามลืมคุณค่าความเป็นมนุษย์โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานในองค์การ  แนวโน้มในอนาคตก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่งจนไม่สามารถจะกำหนดหรือบอกว่าแบบอย่างที่เหมาะสมในการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อะไรที่ดีที่สุดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพองค์ประกอบของแต่ละองค์การไม่ว่าจะเป็น  คน  เทคโนโลยีและเป้าหมายในการดำเนินงานขององค์การสอดคล้องกับแนวความคิดของศาสตราจารย์  ดร.                วิลเลี่ยม  บอลล์  (Prof.  Dr. William  Ball)  จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา  จังหวัดนครสวรรค์  เมื่อวันที่  23  กรกฎาคม  2549  ในหัวข้อเรื่อง  “Organizations  and  Management  in  Tomorow’s World”  ซึ่ง  อารักษ์  ชัยมงคล (2549 : 2-3) ได้สรุปความไว้ว่า  การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันคือยุคโลกาภิวัฒน์  (Globalization)  เป็นกระบวนการที่แตกต่างจากยุคอดีตอย่างสิ้นเชิง  จนยากที่จะพยากรณ์ได้ว่าการบริหารองค์การและการจัดการ  (Organizations  and  Management)  ในอนาคตจะมีรูปลักษณ์และแบบอย่างอย่างไรองค์ความรู้และทฤษฎีทางการบริหารเก่า ๆ  อาทิ  POCCOC, POSDCORB, PPBS  หรือแม้แต่ MBO   จะเป็นเพียงหลักฐานทางวิชาการที่อยู่ในตำราเรียนว่ายุคสมัยหนึ่งทฤษฎีต่าง ๆ   เหล่านี้ได้มีผลต่อการบริหารองค์การที่ได้รับการยอมรับ  รวมไปถึงแนวคิดในการบริหารแบบต่าง ๆ  ในยุคที่ผ่านมา ได้แก่   แบบวิทยาศาสตร์  (Scientific  Management)   ตามแนวคิดของ   Frederick  W. Taylor,  Max Weber, Gulick & Urwick และ Frank Gilbreth   แบบมนุษยนิยม  (Humanistic)  ของ Lilian M. Gilbreth, Henry Fayol และ Mary Parker Follet  ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องคนในองค์การมากขึ้นจนมาถึง   Chester I. Barnard   บิดาแห่งองค์การแบบไม่เป็นทางการ  (Informal- Organization Theory)  อธิบายถึง  ความสัมพันธ์องค์การแบบไม่เป็นทางการที่แฝงตัวและมีอิทธิพลต่อองค์การแบบเป็นทางการ    จนเข้าสู่แบบมนุษยสัมพันธ์    (Human  Relations)     และแบบทรัพยากรมนุษย์  (Human Resources)   ประกอบด้วยนักคิดที่มีชื่อเสียง   อาทิเช่น   Elton Mayo, Fritz   Roethlisberger and others  (Hawthorn Study)     ช่วงปี  ค..  1924 -1933  ซึ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การ     ต่อมาแนวคิดเรื่องทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของ Abraham H.Maslow ที่กล่าวถึงความต้องการในระดับต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานในองค์การและทฤษฎี   X – Y  ของ Douglas Mcgregor ที่แบ่งแยกพฤติกรรมมนุษย์เป็น  กลุ่มซึ่งมามีบทบาทมากในประเทศญี่ปุ่นและประสบความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศจนสามารถเทคโอเวอร์บริษัทอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และ     อื่น ๆ ของอเมริกา ในช่วงยุค ค.. 1980  เป็นต้น
                จนมาถึงเมื่อประมาณ   20 -25 ปีที่ผ่านมา   โลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากคลื่นลูกที่  2 การผลิตในกระบวนการอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร  (Information  Technology)  หรือยุคหลังสมัยใหม่  (Post – modernism)  โลกทั้งโลกแคบลงด้วยการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายอินเตอร์เนต   หรือเรียกว่า  ยุคโลกาภิวัฒน์  (Globalization)    เป็นการบริหารจัดการฐานข้อมูล  (Management  of Database)   องค์การใดมีระบบการจัดการฐานข้อมูลได้ดี   และสามารถรวบรวมข้อมูลไว้ได้มากจะเป็นผู้ได้เปรียบ   ดังเช่น  ธุรกิจของไมโครซอพท์ได้สร้างปรากฏการณ์ในการบริหารจัดการรูปแบบใหม่จนทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วครอบครองอาณาจักรทั่วโลก    อันเป็นกระบวนการที่เรียกว่า  American Way   ทำให้ธุรกิจของอเมริกาที่เคยล้าหลังและทรุดโทรม   กลับมาเติบโตและแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นได้  ในขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาอย่างมากมายด้วยคงรักษาวัฒนธรรมองค์การที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตและไม่พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์การและการจัดการ  จนเมื่อ  ปีที่ผ่านมาประเทศไทยและมาเลเซียได้ขับเคลื่อนแนวคิดของ   Information  Technology   เข้าสู่ประเทศ  ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาประเทศใหม่   และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะเหนือกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เช่น  ลาว  เขมร  เวียดนาม  พม่าและแม้แต่เกาหลีเหนือ
                การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) ในยุคข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด ประกอบด้วยการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยแบ่งระดับบุคคลออกเป็น ระดับด้วยกันคือ  ระดับบุคคล   (Individual Level) ระดับทีมหรือกลุ่มงาน  (Team or Group or Department Level)  และระดับองค์การ (Corporate Level)  โดยเน้นโครงสร้างองค์การแบบแบนราบ (Flat Organization)   มิติในการพัฒนามนุษย์เป็น  มิติคือ  พัฒนาโดยการใช้การศึกษาและการฝึกอบรม  มิติการพัฒนาอาชีพ (Career Development)   คือการพัฒนาให้เป็นมืออาชีพที่จะตอบสนององค์การและการจัดการได้   เช่น   รู้จักการประเมินตนเพื่อศึกษาว่าตนเองมีความสามารถ    มีบุคลิกภาพและแรงจูงใจในอาชีพแบบใด  รวมถึงการเป็นนักบริหารมืออาชีพที่มีทักษะในการจัดการเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ   การสรรหาและการคัดเลือก   การพัฒนา  การประเมินผลและการสร้างทายาททดแทน   และมิติสุดท้ายคือ  การพัฒนาองค์การ (Organization Development)  คือปรับเปลี่ยนไปสู่ องค์การแห่งการเรียนรู้” (Learning  Organization)   เพื่อชนะในการแข่งขันซึ่งประกอบด้วย  แนวทาง   คือ   การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  (Continuous Improvement) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การทำ TQM (Total Quality Management) หรือกลยุทธ์การแข่งขันเวลา   และการปรับเปลี่ยนเป็นองค์การอัจฉริยะ   หรือองค์การแห่งการเรียนรู้  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่   21 จึงเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ  (Integration  Development)   ซึ่งประกอบด้วย
                                1.  เข้าใจเรื่องราวของธุรกิจในด้านวิสัยทัศน์   กลยุทธ์  โครงสร้างองค์การ  รูปแบบใหม่และวัดผลสำเร็จเชิงกลยุทธ์
                                2.  เข้าใจมิติการบริหารและพัฒนาคนที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนารายบุคคล  การพัฒนาอาชีพและการพัฒนาองค์การ
                                3.   เข้าใจถึงระดับของการพัฒนาองค์การในรูปแบบใหม่ทั้ง  ระดับ  คือ  ระดับบุคคล  ระดับทีมงานและระดับองค์การ บนพื้นฐานการแข่งขันหลากหลายรูปแบบและวิธีการ
                องค์การในอนาคตไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ที่แน่นอนหรือขนาดที่ใหญ่โต   สามารถเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลาตามผู้ให้บริการหรือการให้บริการถึงสถานที่ของผู้รับโดยอาศัยเพียงโทรศัพท์เคลื่อนที่  และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่ใช้อินเตอร์เนตได้มีลักษณะเป็น E – commerce  องค์การจะมีบุคลากรไม่มากนัก   ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานและทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานในทุกระดับได้ด้วย
                ในทัศนะของผู้ศึกษาเห็นว่า  แนวคิดของ   Professor Ball   เหมาะสมกับองค์การภาคธุรกิจเป็นสำคัญและต้องให้เวลากับการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ  แต่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับภาคประชาชน   กล่าวคือ  เมื่อองค์การธุรกิจเข้มแข็งย่อมมีส่วนกระตุ้นและเร่งเร้าให้ภาคประชาชนตอบสนองคือการบริโภคและเป็นการบริโภคที่เกินภาวะจำเป็นต่อการดำรงชีวิต   ทำให้เกิดการสูญ เสียทรัพยากร    และกระบวนการผลิตต้องเพิ่มขึ้น     ถึงแม้จะทำให้องค์การธุรกิจเติบโตและร่ำรวยขณะที่ภาคประชาชนจะยากจนลง   เพราะไม่สามารถหารายได้เพียงพอต่อความต้องการการบริโภคยิ่งในประเทศไทยเห็นได้ชัดยิ่งว่าประชาชนส่วนใหญ่ขาดศักยภาพในการเพิ่มรายได้  จากกรณีตัวอย่างกองทุนหมู่บ้าน     เมื่อรัฐมีนโยบายกระจายทุนสู่ภาคชนบทระดับรากหญ้าเพื่อให้ประชาชนมีทุนนำไปลงทุนเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาหนี้  กลับกลายเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้มากขึ้น  ทำให้ขาดความสุขในการดำรงชีวิต   เมื่อเปรียบเทียบการบริหารจัดการตามแนวพระราชดำริ  เศรษฐกิจพอเพียง   น่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาคประชาชนให้พอมีอยู่มีกินและมีความสุขในชีวิตได้มากกว่า  ซึ่งแนวโน้มในอนาคตคาดว่า  ภาครัฐและธุรกิจเอกชนคงให้ความสนใจมากขึ้นเพราะจะทำให้สมาชิกในองค์การร่วมกันทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม  เพราะไม่ต้องกังวลกับการแข่งขันจนเกินไป  เติบโตและมีการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) เหมือนกับหลายประเทศที่สนใจแนวพระราชดำริและนำไปปรับใช้ในประเทศของเขา
ฉะนั้น   โลกอนาคต   จะเป็นโลกแห่งการแข่งขันกันด้วยนวัตกรรม  (Innovation)  เป็นปัจจัยหลักเพื่อขับเคลื่อนความกินดีอยู่ดีของคนในสังคม    การแข่งขันและความร่วมมือระหว่างชุมชนและประเทศอื่น ๆ   ไม่ใช่แข่งขันเพื่อความต้องการในการสะสมปัจจัย  (Factor Accumulation)   เช่น  ทรัพยากรธรรมชาติ   ทุนหรือแรงงานเป็นปัจจัยหลักเหมือนอดีตที่ผ่านมา
                การสร้างนวัตกรรมต้องอาศัยความรู้และกิจกรรมที่จะสร้างความมั่งคั่งจากความรู้นั้น   ยิ่งใช้มากยิ่งมีแต่ความเจริญงอกงามดังคำกล่าวที่ว่า  ยิ่งใช้  ยิ่งงอกงามแต่ความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติ   ทุนและแรงงาน  ยิ่งใช้ยิ่งหมดไป  การพัฒนาแนวทางแรกจึงเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงคือใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  ทุนและแรงงานอย่างพอเหมาะพอควร  โดยเน้นการใช้ภูมิปัญญา  ประสบการณ์และการรู้จักกินรู้จักใช้เหมาะแก่ฐานะ    ซึ่งแตกต่างกับแนวทางหลังที่เป็นแบบไม่ยั่งยืน   นั่นคือจะได้รับประโยชน์เฉพาะบุคคล    เฉพาะกลุ่มเฉพาะยุคสมัยได้แก่ผู้ที่สะสมทรัพยากรและทุนไว้มากก็จะได้เปรียบแต่จะทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวในอนาคต              
                  สรุปได้ว่า  โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ( Knowledge Based Society and Economy)  ทุกสังคมจะต้องมีความสามารถในการนำความรู้มาสร้างนวัตกรรม   สำหรับเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม  ประเทศและโลก  ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างขึ้นนั้น  จะต้องก่อประโยชน์ต่อสังคมและส่วนต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างทั่วถึงและเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขันและเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสมดุล   สังคมไทยจึงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทันและสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของทั้งสังคม  (Paradigm Shift หรือ Mindset Change)   สังคมไทยจึงจะอยู่รอดได้จากสภาพบีบคั้นจากสภาพแวดล้อมรอบด้าน   โดยเฉพาะสภาพบีบคั้นจากกระแสโลกาภิวัฒน์นั่นเอง 

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทความ: นวัตกรรมและการใช้ IT ในการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ผู้เขียน: ดร. ปิยนันท์ สวัสดิ์ศฤงฆาร
อีเมล์: hrtraining@csloxinfo.com

           การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) เป็นเรื่องของการผสมผสานระหว่างการปฏิบัติงานกับการเรียนรู้ทั้งแบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพทั้งขององค์กรและตัวบุคคลให้รับกับการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (David Simmonds and Cec Pedersen, 2006) การจะทำตามที่กล่าวนี้ได้ HRD จะต้องสามารถสนองตอบการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในธรรมชาติของตัวงานเองและในวิธีการทำงาน
            การพัฒนาด้านเทคโนโลยี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้กลายมาเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการติดต่อสื่อสารและการประมวลผล ได้ทำให้วิธีการทำงานเปลี่ยนไปทั้งในด้านการผลิตสินค้าหรือบริการและการบริหารงาน องค์กรมีขนาดเล็กลง มีการใช้ระบบเครือข่ายเพื่อกระจายการทำงานและความเสี่ยงมากขึ้น คนที่มีความรู้และประสบการณ์มีการเปลี่ยนงานสูงขึ้นเพื่อแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้และการทำงานที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า ความจำเป็นในการที่จะต้องมีระบบการรวบรวมความรู้ที่มีอยู่กระจัดกระจายในองค์กรมาจัดระบบ และ พัฒนาให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ โดยจัดช่องทางการเข้าถึงความรู้ให้สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงเพื่อให้บุคลากรนำความรู้ ไปพัฒนาการ ปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือที่เรียกว่า การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในทุกองค์กร
            การจัดการความรู้ซึ่งเป็นระบบบริหารความรู้ในองค์กรก็มีนวัตกรรมในตัวของมันเอง มีพัฒนาการทั้งในรูปแบบของการใช้เทคโนโลยี่และการปรับเปลี่ยนแนวความคิดด้านการบริหารจัดการ ในบทความนี้จะได้นำเสนอเป็นสองส่วน คือการใช้ IT ในการจัดการความรู้ และนวัตกรรมด้านความคิดของการจัดการความรู้ ซึ่งล้วนส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์


วิธีการจัดการความรู้
            มีผู้ให้หลักการหรือวิธีการในการจัดการความรู้ให้เป็นระบบไว้มากมาย แต่ผู้เขียนขอใช้แนวทางของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (อ้างถึงใน Administrator, 2007) ซึ่งมีความชัดเจนและครอบคลุมตั้งแต่การบ่งชี้ จนถึงการเรียนรู้ เป็นขั้นตอน คือ
1.    การบ่งชี้ความรู้
            หน่วยงานต้องสำรวจความรู้ที่บุคลากรจำเป็นต้องใช้เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย โดยสำรวจว่า เราต้องการความรู้อะไร และที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่
2.                การสร้างและแสวงหาความรู้
     เมื่อสำรวจแล้วเห็นว่าความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ก็ต้องไปแสวงหามาเพิ่มเติมให้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ มากที่สุด
3.                การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ
     เมื่อได้ความรู้มาเพียงพอแล้วก็นำมาจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน และจัดเก็บไว้ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง เอกสาร หนังสือ เทป วีซีดี เป็นต้น
4.                การประมวลและกลั่นกรองความรู้
     ต้องนำความรู้ที่จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ไว้แล้วมาทบทวน กลั่นกรอง ให้มีความทันสมัย
5.                การเข้าถึงความรู้
     ต้องมีการจัดช่องทางเผยแพร่ความรู้ทางช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้บุคลากรสามารถเข้าถึง ความรู้ได้สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง
6.                การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้
     จัดกิจกรรมให้บุคลากรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น กิจกรรมชุมชนนักปฏิบัติ      ( Community of Practice หรือ Cop.), การสอนงาน ( Coaching ) และระบบพี่เลี้ยง (Mentoring) เป็นต้น
7.                การเรียนรู้
     กำหนดให้บุคลากรในองค์กรต้องใช้ KM เข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อผลงานที่มีประสิทธิภาพ โดย อาจกำหนดเป็นนโยบาย จากผู้บริหารขององค์กรก็ได้

การจัดการความรู้ มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1)          คน ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นแหล่งความรู้ และเป็นผู้นำ  ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
2)          เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือเพื่อให้คนสามารถค้นหา จัดเก็บ แลกเปลี่ยน รวมทั้งนำ      ความรู้ไปใช้อย่างง่าย และรวดเร็วขึ้น
3)          กระบวนการความรู้ เป็นการบริหารจัดการ เพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปให้ผู้ใช้ เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุง และนวัตกรรม

               
การใช้ IT ในการจัดการความรู้
            IT มีความจำเป็นและมีประโยชน์อย่างมากต่อการจัดการความรู้ โดยเฉพาะการจัดการความรู้ที่เป็น ความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) แต่ การจัดการความรู้ถ้าจะให้ดีที่สุดจะต้องมีการจัดการความรู้ทั้งสองแบบ คือ จัดการความรู้ชัดแจ้ง โดยใช้ 2T (Tool and Technology) กับการจัดการความรู้ในคน (Tacit Knowledge) โดยการใช้ 2P (Process and People) ในลักษณะที่สมดุลย์ที่เรียกว่าการจัดการความรู้แบบไม่รู้จบ (อิสระชน, 2008)
            กลยุทธ์การจัดการความรู้ที่ใช้ทั้งการนำด้วย IT และการนำด้วยคนนี้ เรียกว่ากลยุทธ์การจัดการความรู้แบบ Hybrid (ผู้จัดการรายสัปดาห์, 2549)
1.                กลยุทธ์ที่นำด้วย IT
            หน่วยงานส่วนใหญ่ที่นำการจัดการความรู้มาใช้ในระยะแรกมักใช้ IT เป็นตัวนำในการจัดการความรู้โดยเห็นว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ได้ information เป็นปริมาณมากและเร็ว ถือเป็นความก้าวหน้าที่มองเห็นและจับต้องได้ เป็นการมอง information ว่าเป็น knowledge การจัดการความรู้ในยุคต้นๆแท้จริงแล้วจึงเป็นการจัดการข้อมูล (Information Management) แทนที่จะเป็นการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ทั้งนี้เพราะแม้จะมีการจัดข้อมูลให้เป็นระบบอย่างไร แต่ตัวข้อมูลเองจะล้าสมัยไปภายในเวลาไม่นาน การใช้กลยุทธ์ที่นำด้วย IT ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ต้องนำกลยุทธ์ที่นำด้วยคนมาใช้ควบคู่กัน ด้วยการแบ่งปัน แต่การแบ่งปันที่ว่านี้ไม่ใช่แบ่งกันใช้ข้อมูล แต่เป็นการนำข้อมูลมาแบ่งกันคิดในรูปของชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice: CoP)

2.                กลยุทธ์ที่นำด้วยคน
                        ชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) จะแปลงเนื้อหา (Content) ที่อยู่ในข้อมูล ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้สอดคล้องกับบริบท (Context) และเกิดเป็นเครือข่ายความรู้ (Knowledge Network) ที่เหมาะกับองค์กร
                       
การนำ IT ไปใช้ในการจัดการความรู้
            Leif Edvinsson (อ้างถึงในผู้จัดการรายสัปดาห์, 2550) เจ้าของทฤษฎี Intellectual Capital (IC) มีแนวคิดที่เน้นการค้นหาแหล่งความรู้ที่มองไม่เห็นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร นับเป็นแนวคิดการจัดการองค์ความรู้ที่ไม่ได้แตกต่างจาก BA ของโนนากะ เท่าใดนัก แต่จะมีข้อแตกต่างอยู่ที่ BA จะเน้นที่การจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเวทีแสดงความคิดเห็นในแบบของคนตะวันออก
หากว่า IC นั้นจะเน้นให้พนักงานและองค์กรค้นหาทรัพยากรที่เป็นแหล่งความรู้หรือกระบวนการคิด มองหาคุณค่าที่มีอยู่ในองค์กร แล้วนำมาจัดการฐานองค์ความรู้ รวบรวมให้กลายเป็นสังคมของความรู้ในองค์กรที่เป็นระบบโดยใช้สารสนเทศเข้ามาช่วยให้ถึงเป้าหมาย Mr. Edvinsson กล่าวถึงแนวโน้มที่เปลี่ยนไปของ KM (KM version 2) ว่า นอกจากจะเป็นลูกครึ่งไอทีกับกลยุทธ์ที่ดึงความรู้แบบคนต่อคนแล้ว ทิศทางต่อไปของการจัดการองค์ความรู้ในองค์กรจะเป็นการสร้างชุมชนของความรู้มากขึ้น พร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้เก็บฐานความรู้ที่เกิดจากเครือข่ายระหว่างพนักงานและองค์กร
            การนำ IT มาใช้ในฐานะเป็นเครื่องช่วยสนับสนุน (enabling tool) การจัดการความรู้ มักใช้ระบบซอฟแวร์ซึ่งมีหลักปฏิบัติที่สำคัญ คือ
1.                ผู้ป้อนข้อมูลควรเลือกข้อมูลที่สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย  ข้อมูลที่จัดเก็บจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่อยู่ในรูปของ ข้อความ , คำพูด ,เอกสาร เช่น คู่มือปฏิบัติงาน , กระบวนการทำงานต่าง ๆ เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งจะอยู่ในรูปของภาพ ,เสียง ,วีดีโอ
2.                พนักงานในหน่วยงานต้องได้รับการอบรมให้มีความชำนาญในการค้นหาความรู้ในระบบซอฟแวร์

3.                ให้ระบบซอฟแวร์ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากระบบอื่นๆ ที่มีใช้อยู่ในองค์กรเช่น e-mail, ERP ,CRM ,Web Board , Data Warehouse เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวต้องนำมาประมวลผล แบ่งกลุ่ม และจัดทำดัชนีเพื่อง่ายต่อการจัดเก็บและสืบค้น ข้อมูลที่มีอยู่ในระบบจะทวีมากขึ้นทุกวันตามปริมาณงานที่เกิดขึ้นในระบบต่างๆ หากการจัดการไม่มีประสิทธิภาพย่อมก่อให้เกิดปัญหาข้อมูลท่วม และไม่สามารถสร้างประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ได้ ความรู้เก่าที่ล้าสมัยอาจยังเก็บอยู่ในระบบ ความรู้บางอย่างอาจจะไม่เคยมีการใช้งานในองค์กรนี้เลย
4.                ให้ระบบซอฟแวร์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและทำงานร่วมกัน ของผู้ที่ต้องการความรู้
5.                หลังจากมีการรวบรวมความรู้อย่างเป็นระบบผ่านซอฟแวร์แล้ว
5.1    ควรรับฟังความคิดเห็นของพนักงานเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขควบคู่กับประเมินความพึงพอใจของลูกค้าด้านบริการและตัวสินค้า
5.2    ต้องมีการวัดผลว่าการจัดการความรู้ในระบบซอฟแวร์ นั้นสามารถเพิ่มคุณค่าองค์ความรู้ของบุคคลากรในแต่ละแผนกได้สอดคล้องกันมากน้อยเพียงไร เพื่อสร้างเครือข่ายที่ตื่นตัวในการถ่ายทอดความรู้อยู่เสมอ ตลอดจนเพิ่มความสนิทสนมระหว่างองค์กรกับลูกค้าเพื่อแลกเปลี่ยนความต้องการก่อให้เกิดความภักดีในการใช้สินค้า
                       
                        การนำระบบการจัดการความรู้มาใช้ในองค์กรนั้นไม่ใช่การนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอีกระบบหนึ่งเข้ามาในองค์กร แต่เป็นการวางระบบจัดการองค์ความรู้ซึ่งต้องการปัจจัยหลายๆด้านในองค์กรเพื่อสนับสนุนระบบการจัดการความรู้ องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการจัดการองค์ความรู้ ส่วนใหญ่มักจะมีการปรับปรุงโครงสร้างภายในองค์กรเพื่อให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่น ลดการแบ่งแยก ตามระบบงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ซึ่งกันและกัน โครงสร้างที่ดีจะช่วยให้การทำงานไหลลื่นไปตามกระบวนการทำงานไม่ติดขัด


ปัญหาในการใช้ IT ในการจัดการความรู้
                ตัวความรู้เองเป็นนามธรรมไม่สามารถจับต้อง การจัดการความรู้จึงต้องไป
ทำกับกระบวนการจัดการความรู้ เช่น ไปจัดการที่กระบวนการจัดเก็บ การค้นหา การดูแล เป็นต้น กระบวนการจัดการความรู้เหล่านี้เองที่เป็นส่วนที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการ ช่วยทำให้การจัดการกระบวนการเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้คนเข้ามาทำและทำให้หลายองค์กรเข้าใจผิดว่าระบบ
การจัดการความรู้ ก็คือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการดำเนินการระบบการจัดการความรู้คือการเลือกซื้อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในองค์กร (สมชาย นำประเสริฐชัย และ พสิษฐิ์ กาญจนสัณห์เพชร, มปท) การจัดการความรู้ด้วยมุมมองเช่นนี้ทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินการจัดการความรู้หลายประการ ได้แก่
1.       ทำให้มองระบบการจัดการความรู้เป็นเพียงการใส่ข้อมูลและจัดหมวดหมู่โดยคาดหวังว่าเทคโนโลยี่ของซอฟแวร์จะแก้ไขปัญหาในส่วนอื่นให้ได้
2.                ความรู้หรือข้อมูลที่มีการใช้งานผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีแต่ความรู้แบบ Explicit Knowledge ส่วนประสบการณ์การทำงานซึ่งเป็นความรู้ที่สะสมอยู่ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) ซึ่งมีคุณค่าและประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าความรู้แบบแรกกลับไม่ได้รับการบันทึกและจัดการเนื่องจากไม่ได้รับการถ่ายทอดออกมา ซึ่งถ้าความรู้ประเภทนี้ไม่ได้รับการแปลงให้เป็น Explicit Knowledge ก็จะเป็นข้อจำกัดของ IT ที่ไม่สามารถจัดการได้

นวัตกรรมการจัดการความรู้
            เมื่อ IT มีข้อจำกัดในการที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการกับความรู้ที่อยู่ในตัวคน จึงจำเป็นจะต้องหาแนวคิดที่จะทำให้ Tacit Knowledge ทั้งหลายได้รับการถ่ายทอดออกมาให้มากที่สุด และเมื่อ Tacit Knowledge ได้กลายเป็น Explicit Knowledge แล้ว เมื่อนั้นความก้าวหน้าด้าน IT จึงจะสามารถทำหน้าที่ของมันได้
            นวัตกรรมด้านความคิดที่สำคัญของการจัดการความรู้ (จุฑามาศ กรีพานิช, 2551) ได้แก่

1.                สร้างวัฒนธรรมใหม่
            เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรซึ่งมีลักษณะเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วม ให้เป็นการให้เกียรติและเคารพในความคิดเห็นของพนักงานทุกระดับ กล่าวคือ

จาก
เป็น
·     อำนาจ
ความรู้
·     การบริหารงานแบบควบคุม-สั่งการ
บริหารงานแบบเอื้ออำนาจ (People Empowerment) ให้พนักงานทุกระดับเริ่มสร้างสรรค์วิธีการทำงานใหม่ๆได้
·     การไหลเวียนของความรู้หรือสารสนเทศจากการไหลขึ้นลงตามแท่งอำนาจ
ไหลเวียนไปทุกทิศทุกทางภายในองค์กร
·     ความหมายของคำว่า ผู้นำ จากการหมายถึงผู้บริหารสูงสุด
ทุกคนในองค์กร

2.                สร้างวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กร
            ไม่ใช่ร่วมกันกำหนด แต่จะต้องร่วมกันตีความทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งจนเกิดเป็นความผูกพัน เป็นความเชื่อและความศรัทธา เกิดสำนึกความเป็นเจ้าของขึ้นกับสมาชิกทุกคนในองค์กร เกิดความคืดที่จะสำรวจตัวเองว่ายังมีข้อบกพร่องอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุถึงจุดมุ่งหมายตามวิสัยทัศน์นั้น ข้อบกพร่องส่วนใหญ่ก็จะไม่พ้นเรื่องความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ซึ่งหากบุคลากรเกิดสำนึกได้ถึงจุดอ่อนดังกล่าวได้ ก็จะทำให้เกิดความกระตือรือล้นที่จะพัฒนาตัวเองซึ่งให้ผลสำเร็จได้ดีกว่าการเคี่ยวเข็นขององค์กร
3.                สร้างและใช้ความรู้ในการทำงานและสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
            การเรียนรู้กับการปฏิบัติเป็นของคู่กัน องค์กรต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรได้นำความรู้มาใช้ในการทำงานอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเวทีที่บุคลากรนั้นได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เพื่อปรับปรุงแก้ไขความเข้าใจที่ได้จากการเรียนรู้และที่ได้จากการปฏิบัติจริงให้ถูกต้อง เป็นการยกระดับความรู้ความสามารถขององค์กรและของบุคลากรไปพร้อมกัน

4.                ต่อยอด
            ไม่ควรมุ่งหมายที่จะสร้างฐานความรู้ขององค์กรที่เริ่มจากศูนย์เพราะเป็นการเสียเวลาและทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ปฏิบัติงาน ควรใช้การสร้างเสริมต่อยอดบนพื้นฐานของการพัฒนาความรู้ร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน
5.                สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยยุทธศาสตร์เชิงบวก
            หา best practice ของเรื่องที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้และการดำเนินงานขององค์กร โดยเริ่มจากหน่วยงานภายในขององค์กรเองเพื่อให้เป็นตัวอย่าง ส่งเสริมกำลังใจให้หน่วยงานที่ประสบความสำเร็จเพื่อขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นในองค์กร หรือในกรณีที่ในองค์กรไม่มีหน่วยงานใดประสบความสำเร็จ ก็ใช้วิธีไปดูงานจากหน่วยงานอื่นที่ประสบความสำเร็จแล้วนำมาบันทึก เผยแพร่ ทดลองปฏิบัติ และปรับปรุงให้เป็นขององค์กรเอง
6.                จัดพื้นที่หรือเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
            พฤติกรรมของคนไทยมักไม่ค่อยกล้าแสดงออกแม้จะไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย หรือมีความคิดเห็นอื่นที่ดีกว่า การจัดให้มีเวทีที่สามารถแสดงออกได้ไล่เลียงไปตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ห้องพักที่หัวหน้างานจะได้มาพบปะพูดคุยสอบถามปัญหา หรือความเข้าใจในการทำงาน การประกวดความคิดริเริ่ม หรือการจับผิดในเชิงสร้างสรรค์ ก็ล้วนแต่เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการความรู้ทั้งสิ้น
7.                พัฒนาคน
            เน้นการพัฒนาคนและพัฒนางานไปพร้อมๆกัน ต้องให้บุคลากรได้ปฏิบัติ อย่ากลัวความผิดพลาดจนกลายเป็นการปิดกั้นการพัฒนาหากได้รับการตรวจประเมินในระดับหนึ่งแล้วว่าบุคลากรนั้นมีความสามารถที่จะเริ่มปฏิบัติงานใหม่นั้นๆได้ การพัฒนาคนไปพร้อมกับการพัฒนางาน เป็นการให้โอกาสได้เผชิญกับภารกิจที่ท้าทาย และทำให้ได้ทราบว่ายังมีประเด็นใดที่บุคลากรยังไม่มีความชัดเจน
8.                ระบบให้คุณ ให้รางวัล
            การให้คุณให้รางวัลในยุคสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินหรือรางวัลที่มีค่าอะไรมาก ที่สำคัญคือการยอมรับ (recognition) และการให้ความสำคัญก็มีค่าเพียงพอแม้จะเป็นสำหรับพนักงานระดับล่างก็ตาม เพราะหลักการของการให้รางวัลนี้ไม่ใช่ค่าตอบแทนแต่เป็นการให้กำลังใจและขอบคุณการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการความรู้
9.                หาเพื่อนร่วมทาง
            การจัดการความรู้ในเรื่องที่ไม่ถึงกับเป็นความลับสุดยอดขององค์กร ควรทำในลักษณะกลุ่มบริษัท ชมรม หรือเครือข่ายเพื่อให้เกิดแนวคิดและกรณีศึกษาใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยขยายขอบเขตของประสบการณ์และเป็นตัวกระตุ้นในเชิงการพัฒนาเปรียบเทียบที่จะไม่ท้อถอยหรือยกเลิกเสียกลางคัน
10.        จัดทำขุมความรู้
            ความรู้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเชิงนวัตกรรมทั้งหลายที่กล่าวมา จะต้องไม่ปล่อยให้ผ่านไปเพียงแค่การพูดคุยหรือเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งๆของกิจกรรมขององค์กร แต่จะต้องมีผู้รับผิดชอบประมวลให้เป็นขุมความรู้ขององค์กรเนื่องจากเป็นความรู้ที่ได้กลั่นกรองจากการปฏิบัติ ผ่านการหารือ และทดสอบแล้ว
            เมื่อได้ทำในสิ่งที่ควรทำในการจัดการความรู้ทั้งในส่วนที่ใช้ IT มาจัดหมวดหมู่ของ Explicit Knowledge และใช้นวัตกรรมการจัดการความรู้เพื่อกระตุ้น Tacit Knowledge ให้กลายเป็น Explicit Knowledge แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคลากรจะพัฒนาได้อย่างที่ต้องการเสมอไป การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สนองตอบต่อความต้องการขององค์กร ต้องผสมผสานองค์ประกอบสำคัญ 6 ประการในการบริหารจัดการ (Bloggang, 2551) อย่างกลมกลืน ได้แก่
1.           การกำหนดทิศทาง (Sense of Direction)
2.           การวางยุทธศาสตร์ (Strategy)
3.           การจัดเรื่องระบบงาน (System)
4.           บุคลากร (Staff)
5.           โครงสร้าง (Structure)
6.           การประเมินตนเองเพื่อพัฒนา (Self-Assesssment)
               นอกจากนั้นจะต้องมีการนำความรู้ไปใช้ ให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาเป็นองค์ความรู้ และนำกลับไปใช้ วนเวียนเป็นวัฒจักรเพื่อปรับปรุงความรู้ให้ไม่เก่าเก็บและยังคงคุณค่าในฐานะที่เป็นการจัดการความรู้ขององค์กรอยู่ทุกสภาวะการณ์ (ปรัชญา ชุ่มนาเสียว, 2549)

สรุป
            แนวโน้มในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ คือ การพัฒนามนุษย์ให้มี innovative thinking โดยให้โอกาสได้พัฒนาความคิดริเริ่มด้วยการได้ลงมือปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้มากผ่านทางระบบการจัดการความรู้ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวสนับสนุน ตามขั้นตอนต่างๆของการพัฒนานวัตกรรม (neoindust, 2550) คือ
1.           นวัตกรรมที่ใจ
2.           นวัตกรรมที่ความคิด (ทัศนคติ)
3.           นวัตกรรมที่พฤติกรรม
4.           นวัตกรรมที่กระบวนการ
5.           นวัตกรรมที่ระบบ ที่ผลิตภัณฑ์ ที่งานบริการ
            จะขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางความคิด ดังนี้

การคิดนั้นอาจคิดได้หลายอย่าง จะคิดให้วัฒนะ คือ คิดแล้วทำให้เจริญงอกงามก็ได้ จะคิดให้หายนะ คือ คิดแล้วทำให้พินาศฉิบหายก็ได้ การคิดให้เจริญจึงต้องมีหลักอาศัย หมายความว่า เมื่อคิดเรื่องใด สิ่งใด ต้องตั้งใจให้มั่นคงในความเป็นกลาง  ไม่ปล่อยให้อคติอย่างหนึ่งอย่างใดครอบงำ ให้มีแต่ความจริงใจ  ตรงตามเหตุตามผลที่ถูกแท้และเป็นธรรม

            จะใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี่ใดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็แล้วแต่ เป้าหมายจะต้องให้บุคลากรนั้นมีใจรักที่จะพัฒนา คิดแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม และมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทั้งตนเอง หมู่คณะ และองค์กร จึงเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่พึงประสงค์
--------------------------------------------------