บทที่ 5



          
   http://www.youtube.com/watch?v=tw77ntdllu8
วีดีโอเรื่อง สื่อการเรียนการสอนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เทคโนโลยีกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
            ประชาสรรค์ แสนภักดี (2550) กล่าวว่า ความเจริญทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นส่วนหนึ่งในความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเตรียมคนเพื่อให้พร้อมในความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การมองภาพอนาคตที่เป็นเพียงการมองการภาพเพียงด้านเดียวคือความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลกนั้นคงไม่เพียงพอ   จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองภาพอนาคตถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันและที่ผ่านมา  เพื่อวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างทันท่วงที ทั้งด้านการจัดสรรงบประมาณ การจัดหาทรัพยากร รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการมองภาพอนาคตที่ดีและเหมาะสมจะเป็นพื้นฐานในการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันในอนาคตได้ในที่สุดหลักสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ จะต้องให้ความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการ การฝึกอบรมความรู้ที่ทันสมัยรวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไปโดยมุ่งให้การศึกษาและจัดสรรปัจจัยเกื้อหนุนอื่น ๆ เพื่อรองรับภาพอนาคตที่เราคาดการณ์ไว้ โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับบุคคลซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญเพราะการพัฒนาเป็นรายบุคคลเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะในระดับองค์กรและในระดับชาติ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคมหรือแม้แต่การเมือง จากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นได้พิสูจน์ให้เราเห็นอย่างเด่นชัดว่าคนไทยไม่สามารถรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้  ปรับตัวไม่ทัน ทั้งนั้น เนื่องจากขาดการกำหนดภาพในอนาคตเพื่อนำมากำหนดภาพในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นหนักที่ระดับบุคคล เพราะการพัฒนาเป็นรายบุคคลเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาทักษะในระดับองค์กร และในระดับชาติ กล่าวคือ ถ้าหากทุกคนในองค์กรมีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพร้อมที่จะพัฒนาและมีการพัฒนาอย่างพร้อมเพียงกันแล้ว ย่อมทำให้ทรัพยากรมนุษย์ทั้งหมดขององค์กรได้รับการพัฒนาอย่างแข็งแกร่ง เมื่อองค์กรมีทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาอย่างแข็งแกร่งหลาย ๆ องค์กรรวมกันเข้า ก็จะเป็นพลังสำคัญของประเทศ นั่นยอมหมายความว่าประเทศนั้นก็จะมีทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้ประเทศนั้นมีความพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และมีความยั่งยืน ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านใด ๆ ก็ตาม วันนี้หากเราปล่อยให้ผู้นำในแบบเดิม เป็นคนตัดสินใจ โดยเฉพาะบนฐาน Future by past ชอบเอาอดีตกำหนดปัจจุบัน ประเทศเราคงจะแย่ เราควรเรียนรู้อดีต แต่ไม่ควรยึดติดกับอดีต แต่ให้นำเอาอดีตนั้นมาเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันความผิดพลาดในอนาคต

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
            1. บทเรียนอิเล็กทรอนิคส์
               1.1 การออกแบบและการสร้างบทเรียนอิเล็กทรอนิคส์  นุชลดา ส่องแสง (2550หน้า 67) กล่าวถึง การออกแบบและการสร้างบทเรียนอิเล็กทรอนิคส์ คือ สื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่แทนที่เอกสารหนังสือ ที่เรียกว่า สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ Computer Aided Instruction (CAI) ปัจจุบันมีซอฟแวร์ที่เป็นเครื่องมือให้เลือกใช้งานได้หลากหลายตัวและในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่มาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน การฝึกอบรม รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ โดยเพียงพัฒนา CAI ของเดิม ๆ ให้เป็น Web Based Instruction (WBI) หรือการเรียนการสอนผ่านบริการทางเว็บเพจ ส่งผลให้ข้อมูลในรูปแบบ WBI สามารถเผยแพร่ได้รวดเร็วและกว้างไกลกว่าสื่อ CAI ปกติ ทั้งนี้มาจากประเด็นสำคัญ 2 ประการ ดังนี้  (1) WBI สามารถประหยัดเงินที่ต้องลงทุนในการจัดหาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสร้างสื่อ (authoring tools) ไม่จำเป็นต้องซื้อโปรแกรมราคาแพงมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนการสอน และ (2) เนื่องจากคุณสมบัติของเอกสาร HTML ที่สามารถนำเสนอข้อมูลได้ทั้งข้อความ ภาพ เสียง VDO และสามารถสร้างจุดเชื่อมโยงไปยังตำแหน่งต่างๆได้ตามต้องการของผู้พัฒนาจึงส่งผลให้การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบของ WBI เป็นที่นิยมอย่างสูงและได้รับการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (electronics learning) หรือ E-Learning ซึ่งกำลังได้รับการนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน  
            1.2 ความหมายของบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์
            ถนอมพร เลาหจรัสแสง (2547หน้า 125) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ไว้ว่า หมายถึง เป็นการเรียนเนื้อหาหรือสารสนเทศสำหรับการสอนหรือการอบรม ซึ่งใช้การนำเสนอด้วยตัวอักษร (text) ภาพนิ่ง (image) ผสมผสานกับภาพเคลื่อนไหว (animation) วีดิทัศน์และเสียง (sound) ที่อาศัยเทคโนโลยีของเว็บไซต์ (web technology) ในการถ่ายทอดเนื้อหารวมทั้งใช้เทคโนโลยีการจัดการคอร์ส (course management system) ในการบริหารจัดการงานสอนต่าง ๆ
            บุญเกียรติ เจตตำนงนุช (2547หน้า 67) ให้คำจำกัดความของอิเล็กทรอนิกส์ไว้ว่า คือ การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในระบบอินเทอร์เน็ต (internet) มาช่วยออกแบบและจัดทำระบบเพื่อสร้างระบบการเรียนการสอน โดยจะมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตรงกับความต้องการของผู้สอนและผู้เรียน เชื่อมโยงระบบเป็นเครือข่ายที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาและทุกคน สามารถประเมิน ติดตามพฤติกรรมผู้เรียนได้ เสมือนการเรียนในห้องเรียนจริง
บุญเลิศ อรุณพิบูลย์ (2548, หน้า 55) ได้ให้ความหมายของบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ไว้ว่า คือ การเรียนในลักษณะใดก็ได้ซึ่งใช้การถ่ายทอดเนื้อหาผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ (computer) เครือข่ายอินทราเน็ต (intranet) อินเทอร์เน็ต (internet) เอ็กซทราเน็ต (extranet) หรือสัญญาณโทรทัศน์ สัญญาณดาวเทียม
สุรสิทธิ์ วรรณไกรโรจน์ (2549, หน้า 35)ให้ความหมายบทเรียนอิเล็กทรอนิคส์ คือ การเรียนรู้แบบออนไลน์ เป็นการศึกษาและเรียนรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต (internet) หรืออินทราเน็ต (intranet) เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยที่ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถ และความสนใจของตนเองโดยเนื้อหาของบทเรียนซึ่งประกอบด้วยข้อความรูปภาพ เสียง วิดิโอและมัลติมีเดียอื่น ๆ จะถูกส่งไปยังผ่าน Web Browser โดยผู้เรียนกับผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อปรึกษา หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในขั้นเรียนปกติโดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย เช่น e-mail, Webboard, Chat จึงเป็นการเรียนสำหรับทุกคน เรียนได้ทุกเวลาและสถานที่ (learn for all : anyone, anywhere and anytime)
            Roblyer (2004,  p.98) ได้ให้คำนิยามว่า บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง รูปแบบของเนื้อหาสาระที่สร้างเป็นบทเรียนออนไลน์สำเร็จรูปอาจใช้แผ่นซีดีรอม (CD-ROM) เป็นสื่อกลางในการส่งผ่าน หรือใช้การส่งผ่านอินเตอร์เน็ต (internet) หรือเครือข่ายภายใน ทั้งนี้อาจจะอยู่ในรูปแบบคอมพิวเตอร์ช่วยฝึกอบรม (computer based training ; CBT) และการใช้เว็บเพื่อการฝึกอบรม (web based training ; WBT) หรือการเรียนการสอนทางไกล (distance learning) ผ่านดาวเทียมก็ได้
            สรุปได้ว่า บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์นั้น หมายถึง การเรียนในลักษณะใดก็ได้ที่ถ่ายทอดเนื้อหาผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เอ็กทราเน็ต หรือการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์หรือสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเนื้อหาสารสนเทศอาจอยู่ในรูปแบบการเรียนที่คุ้นเคยกันมา เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือการสอนบนเว็บ (web-based instruction) การเรียนออนไลน์ (on-line learning) การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม หรืออาจอยู่ในลักษณะที่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนัก เช่น การเรียนการสอนจากวีดิทัศน์ตามอัธยาศัย (video on demand)  นอกจากนี้ นฤมล ศิระวงษ์ (2548หน้า 47) กล่าวว่า บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกแบบมาดีก็สามารถนำเสนอเนื้อหาบางหัวข้อแทนผู้สอนได้ โดยที่สอนไม่จำเป็นต้องสอนในชั้นเรียน และผู้สอนสามารถใช้เวลาในชั้นเรียนอย่างคุ้มค่ามากขึ้น เช่น การออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์แทน แต่อย่างไรก็ดีผู้สอนบางคนอาจจะเห็นว่า การปรากฏตัวของครูในห้องเรียนเพื่อบรรยายเป็นสิ่งจำเป็นมากเพราะเมื่อผู้เรียนเกิดปัญหาก็สามารถที่จะตอบปัญหาหรือให้ผลป้อนกลับได้ทันที อีกทั้งการสร้างสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างมีระบบและสามารถถ่ายทอดการสอนให้ใกล้เคียงกับการสอนได้จริง รวมทั้งสามารถที่นำสื่อที่ผู้สอนใช้จริงมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยใช้สื่อในรูปแบบที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสำคัญในการสื่อความหมายให้ชัดเจนมากที่สุดและใช้นำเสนอผ่านคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์กับการสอนทางไกล การใช้เวลาในห้องเรียนของการสอนในลักษณะปกตินี้ ผู้สอนจะต้องปรับกลยุทธ์การสอนให้แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ ผู้สอนต้องใช้เวลาในห้องเรียนให้มีประโยชน์สูงสุด เช่น การเลือกกิจกรรมหรือภาระงาน ที่มีความหมายต่อความเข้าใจเนื้อหาการเรียนที่จะให้ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือทำหรือการบรรยายเฉพาะส่วนของเนื้อหาที่จะเป็นประเด็นสำคัญ ๆ ที่ผู้เรียนมักจะพบปัญหา คือ การใช้เวลาในการตอบปัญหาที่ผู้เรียนพบจากการที่ได้ศึกษาด้วยตนเอง
1.3 องค์ประกอบของบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ สุจารี แจ้งจรัส (2548หน้า 92) กล่าวว่า บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ระบบการจัดการศึกษา เนื้อหาวิชา การสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนหรือผู้เรียนด้วยกันและการวัดผล ซึ่งหากมีครบทั้ง 4 ด้านนี้ก็จะทำให้บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพดีนำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้จริงดังรายละเอียดต่อไปนี้ (1) ระบบจัดการการศึกษา (management education system) ไม่ว่าระบบใดในโลกก็ต้องมีการจัดการเพื่อทำหน้าที่ควบคุมและประสานงานให้ระบบดำเนินไปอย่างถูกต้องที่สุด องค์ประกอบนี้สำคัญที่สุด เพราะจะทำหน้าที่ในการวงแผน กำหนดหลักสูตร ตารางเวลา แผนงานด้านบุคลากร แผนงานการบริการ แผนงานด้านงบประมาณ แผนอุปกรณ์เครือข่าย แผนประเมินผลการดำเนินงานและทำให้แผนงานทั้งหมดดำเนินไปอย่างถูกต้อง รวมถึงการประเมินและตรวจสอบกระบวนการต่าง ๆ ในระบบและหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้ระบบดำเนินต่อไปด้วยดีและไม่หยุดชะงัก (2) เนื้อหารายวิชา (contents) ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนจะต้องเขียนคำอธิบายรายวิชา วางแผนการสอน ให้เหมาะสมกับเวลา ตรงกับความต้องการของสังคม สร้างสื่อการสอนที่เหมาะสม แยกบทเรียนเป็นบท ๆ มีการมอบหมายเมื่อจบบทเรียนและทำสรุปเนื้อหาไว้ตอนท้ายของแต่ละบท พร้อมแนะนำแหล่งอ้างอิงเพิ่มเติมให้ไปศึกษา (3) การสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนหรือกับผู้เรียนเอง (communication) ทุกคนในชั้นเรียนสามารถติดต่อสื่อสารกัน เพื่อหาข้อมูล ช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือตอบข้อซักถาม เพื่อให้การศึกษาได้ประสิทธิภาพสูงสุด สื่อที่ใช้มีหลายรูปแบบอาจเป็น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ e-mail, โทรศัพท์,กระดานสนทนา Chat board, WWW Board หรือ MSN เป็นต้น ผู้สอนสามารถตรวจงานของผู้เรียน พร้อมแสดงความคิดเห็นต่องานของผู้เรียน อย่างสม่ำเสมอและเปิดเผยผลการตรวจงาน เพื่อให้ทุกคนทราบจุดบกพร่องของตน จะสามารถกลับไปปรังปรุงตัว หรืออ่านเรื่องใดเพิ่มเติมเป็นพิเศษได้ และ (4) วัดผลการเรียน (evaluation) งานที่อาจารย์มอบหมาย หรือแบบฝึกหัดท้ายบทจะทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์และเข้าใจเนื้อหาวิชามากขึ้น จนสามารถที่จะนำไปประยุกต์ แก้ปัญหาในอนาคตได้ แต่การจะผ่านวิชาใดไป จะต้องมีเกณฑ์มาตรฐานเพื่อวัดผลการเรียน ซึ่งเป็นการรับรองว่าผู้เรียนผ่านเกณฑ์จากสถานศึกษาใด ถ้าไม่มีการสอบก็บอกไม่ได้ว่าผ่านหรือไม่ เพียงแต่เข้าเรียนอย่างเดียว ผู้สอนอาจสอนดี สอนเก่ง สื่อการสอนยอดเยี่ยม แต่ผู้เรียนเข้ามานั่งหลับหรือโดดเรียน ก็ไม่สามารถนำมารับรองว่าเข้าเรียนนั้นได้มาตรฐาน เพราะผ่านการอบรม แต่มิผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ที่จะนำผลการสอบไปใช้งานได้ ดังนั้น E-learning ที่ดีควรมีการสอบ ว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่
            1.4 การผลิตบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ Morgan and Sprague (2004, p. 99) กล่าวว่า การผลิตสื่อบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ต้องเน้นให้การเรียนการสอนนั้นมีความเสมือนจริงมากที่สุด โดยอาศัยนำเอาเทคโนโลยีการผลิตสื่อมาผสมกันอย่างเหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันมีที่นิยมอยู่ 4 แบบ ดังนี้ (1) การเรียนการสอนโดยใช้วีดีโอเป็นสื่อ (streaming media) ผู้สอนต้องมีเอกสารมีพาวเวอร์พอยต์ประกอบการสอน แล้วต้องส่งไปยังเครือข่ายผู้เรียนดาวน์โหลดไปเรียนได้ มีภาพวีดิโอครูผู้สอนพูดบรรยาย สามารถเลื่อนดูและเลือกเรียนเนื้อหาได้ตามความต้องการของตนเอง หรือมีแบบทดสอบในตัว เหมาะสมกับวิชาที่อาศัยการบรรยายสรุปรายละเอียดเป็นเนื้อหาเป็นหลัก (2) ใช้สร้างสื่อปฏิสัมพันธ์ (macromedia flash interactive) เน้นการมีปฏิสัมพันธ์อาจทำเป็นเกมซึ่งจะมีวิธีการสร้างค่อนข้างยากและจะเสียเวลามากเหมาะสมกับหลักสูตรที่มีการเวิร์กชอป การปฏิบัติ เน้นการเรียนแบบมีส่วนร่วม เช่น วิชาเคมีที่ต้องผสมสารเคมี ทำให้เห็นว่า ผสมตัวนี้แล้วได้อะไร เกิดค่าอะไรเกิดขึ้น จะมีดารสร้างภาพจำลองให้เห็นได้ เป็นต้น (3) สื่อชนิดส่งด้วยความเร็วสูง (broadband technology) เป็นสื่อที่จะต้องสามารถส่งผ่านไปยังผู้เรียนได้สะดวกรวดเร็วความเร็วครบถ้วนในลักษณะ VDO Conference ทั่วไปเหมือนเหมือนเรียนทางไกลต้องอาศัยเครือข่ายที่มีความเร็วสูงเสมือนกับเรียนในชั้นเรียนปกติได้ และ (4) การสร้างสถานการณ์จำลอง (simulation) ให้ผู้เรียนเห็นภาพได้ชัดขึ้นจะต้องใช้การคิดร่วมกันของหลายฝ่ายทั้งผู้ผลิตหลักสูตรหรือผู้ผลิตสื่อมาช่วยกันออกแบบรูปแบบว่าเนื้อหาแบบไหนจะต้องใช้เทคโนโลยีแบบใดผู้เรียนจึงเข้าใจบทเรียนง่ายขึ้น
            1.5 ประโยชน์ของการนำบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ สมควร ปานโม (2545หน้า 71) กล่าวว่า ผลดีของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีผลต่อการเรียนการสอนในสถานศึกษามีดังต่อไปนี้ (1) เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน ผลดีของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อการเรียนการสอนในสถานศึกษาดังนี้คือ ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล และเนื้อหาวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ช่วยเร่งความเร็วในการพัฒนาบทเรียนโดยไม่จำเป็นต้องทำงานซ้ำซ้อน และเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ที่เก่งโดยทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนกับอาจารย์เก่งที่มีน้อยได้ตลอดเวลา และ (2) เพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กร ผลดีของบุคลากรต่อการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในสถานศึกษามีดังต่อไปนี้ คือ จะทำให้บุคลากรทุกคนสามารถได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความสามารถอย่างทั่วถึงทำให้ลดต้นทุนในการฝึกอบรมบุคลากร สร้างความตื่นตัวให้บุคลากร ทำให้มีการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องทำให้มีการสร้างองค์ความรู้ในองค์กรและสามารถนำมาใช้เพื่อประเมินความรู้ความสามารถของบุคลากรได้
            2การเรียนรู้แบบออนไลน์ (e-learning) สุขุม เฉลยทรัพย์ (2547, หน้า 243-244) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบออนไลน์ หรือ e-learning เป็นการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต หรืออินทราเน็ต เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตนเองโดยเนื้อหาของบทเรียน ซึ่งประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่น ๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่านเว็บ เบราว์เซอร์ โดยผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคนสามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย สำหรับทุกคนที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ซึ่งการให้บริการการเรียนแบบออนไลน์ มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน โดยแต่ละส่วนจะต้องได้รับการออกแบเป็นอย่างดี เพราะเมื่อนำเข้ามาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ระบบทั้งหมดจะต้องทำงานประสานกันได้อย่างลงตัว ดังนี้ (1) เนื้อหาของบทเรียน (2) ระบบการบริหารการเรียน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางกำหนดลำดับของเนื้อหาในบทเรียน นำส่งบทเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปยังผู้เรียน ประเมินผลสำเร็จของบทเรียน ควบคุมและสนับสนุนการให้บริการทั้งหมดแก่ผู้เรียน จึงถือเป็นองค์ประกอบของ e-learning ที่สำคัญมาก เราเรียกระบบนี้ว่า ระบบบริหารการเรียน (e-learning management system) ดังนั้น ระบบบริหารการเรียนจึงเป็นส่วนที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจนจบหลักสูตร และ (3) การติดต่อสื่อสาร การเรียนแบบ e-learning มีความโดดเด่นและแตกต่างไปจากการเรียนทางไกลทั่ว ๆ ไป คือ การนำรูปแบบการติดต่อสื่อสารแบบ 2 ทาง มาใช้ประกอบในการเรียน เพื่อเพิ่มความสนใจ ความตื่นตัวของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนให้มากยิ่งขึ้นและใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ติดต่อสอบถาม ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างตัวผู้เรียนคนอื่น ๆ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท real-time ได้แก่ chat (massage voice), white board/text slide, real-time annotations, interactive poll, conferencing และอื่น ๆ ส่วนอีกแบบ คือ ประเภท non real-time ได้แก่ web-board, e-mail
            3คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (computer assisted instructionสุขุม เฉลยทรัพย์ (2547, หน้า 244-245) กล่าวว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะเสนอสารสนเทศที่ได้ผ่านกระบวนการสร้างและพิจารณามาเป็นอย่างดี โดยมีเนื้อหาวิชาหรือสารสนเทศ แบบฝึกหัด การทดสอบและการให้ข้อมูลป้อนกลับ ให้ผู้เรียนได้ตอบสนองต่อบทเรียนได้ตามความสามารถของตนเอง เนื้อหาวิชาที่นำเสนอจะอยู่ในรูปมัลติมิเดีย ซึ่งประกอบด้วย อักษร รูปภาพ เสียง และทั้งภาพหรือเสียง คอมพิวเตอร์ช่วยสอนจึงเป็นเทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรมประเภทหนึ่งที่มีพื้นฐานมาจากการนำหลักการเบื้องต้นทางจิตวิทยาการเรียนรู้มาใช้ในการออกแบบ โดยอาศัยพฤติกรรมการเรียนรู้ (learning behavior) ทฤษฎีการเสริมแรง (reinforcement theory) ทฤษฎีการวางเงื่อนไขปฏิบัติ (operant conditioning theory) ซึ่งถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง และการเสริมแรงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีจุดมุ่งหมายนำผู้เรียนไปสู่การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาศัยการสอนที่มีการวางโปรแกรมไว้ล่วงหน้า เป็นการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และมีผลย้อนกลับทันที และเรียนรู้ทีละขั้นตอนอย่างเหมาะสมตามความต้องการและความสามารถของตน การออกแบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จะยึดหลักการต่าง ๆ เช่น สร้างความสนใจต่อบทเรียนโดยใช้กราฟิก ภาพเคลื่อนไหว การใช้สี ใช้ข้อความที่น่าสนใจก่อนจะมีการสอนหรือการใช้บทนำที่เน้นความสำคัญของผู้เรียนออกแบบบทเรียนให้เอื้อต่อผู้เรียนรายบุคคลและให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนให้มากที่สุด ออกแบบให้มีผลป้อนกลับมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยผู้เรียนที่ตอบผิดจะได้เรียนหรือซ่อมเสริมอีกครั้งหนึ่ง ออกแบบให้มีลำดับการนำเสนออย่างเป็นระบบ และผู้เรียนได้ช้าหรือเร็วสามารถเรียนได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ บทเรียนต้องสอดคล้องกัน ทั้งวัตถุประสงค์ กระบวนการสอน และการวัดผลผู้เรียน สามารถควบคุมบทเรียนและดำเนินการใช้บทเรียนได้โดยสะดวก ไม่ว่าจะเดินหน้าหรือย้อนกลับ สาระที่ปรากฏบนหน้าจอต้องกะทัดรัดมีใจความสมบูรณ์ มีความสวยงามน่าสนใจ อาจมีทั้งตัวอักษร ภาพ และเสียงพร้อม ๆ กัน และต้องเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนบรรลุความสำเร็จในการเรียนเป็นสำคัญ ที่สำคัญคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ต้องได้รับการประเมินตามกระบวนการประเมินประสิทธิภาพสื่อ โดยทำการทดสอบหลังเรียนทันที และอย่างน้อยที่สุดต้องผ่านการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ผู้สอน ผู้เรียน และโปรแกรม สามารถบันทึกการโต้ตอบกันระหว่างบทเรียนกับผู้เรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปปรับปรุงบทเรียน
            4วีดิทัศน์ตามอัธยาศัย (video cd) สุขุม เฉลยทรัพย์ (2547, หน้า 245) กล่าวว่า วีดิทัศน์ตามอัธยาศัย เป็นระบบที่นำภาพวิดีโอมาบันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์เพียงชุดเดียว สามารถแจกจ่ายข้อมูลวิดีโอชุดนี้ให้กับผู้ใช้จำนวนมากได้โดยไม่จำเป็นต้องรับชมพร้อม ๆ กัน และสามารถที่จะควบคุมการแสดงได้เหมือนกับดูวิดีโอทุกประการ แต้ปัจจุบันความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร จึงมีการนำระบบวีดิทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งการถ่ายทอดความรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเช่นนี้ จะประกอบด้วย ฝ่าย คือ (1) ฝ่ายวีดิทัศน์ ประกอบด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านวีดิทัศน์โดยตรงไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ เจ้าหน้าที่ตัดต่อ ตากล้อง ทำหน้าที่ในการตัดต่อเลือกภาพเพื่อส่งสัญญาณออกไปยังฝ่ายที่สองต่อไป (2) ฝ่ายแปลงสัญญาณภาพ ทำหน้าที่รับสัญญาณภาพจากฝ่ายวีดิทัศน์เข้ากระบวนการแปลงสัญญาณภาพที่ส่งมา เพื่อส่งข้อมูลต่อไปยังเครื่องแม่ข่ายที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดต่อไป ซึ่งจะประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ที่มีการ์ดจอที่สามารถรับภาพสัญญาณวีดิทัศน์ได้ และโปรแกรม real producer basic ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับสร้างไฟล์วีดิทัศน์ หรือการนำเสนอสื่อวีดิทัศน์ที่เป็นเสียงและภาพเคลื่อนไหวเผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และ (3) ฝ่ายเครือข่ายแม่วีดิทัศน์ เป็นฝ่ายที่ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นเครื่องแม่ข่ายวีดิทัศน์ (video server) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบถ่ายทอดวีดิทัศน์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก็บข้อมูลวีดิทัศน์ การให้บริการส่งวีดิทัศน์และโปรแกรมการบริหารฐานข้อมูลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่เป็นเครื่องลูกข่ายเมื่อมีการร้องขอเข้ามาใช้บริการ
            5หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) สุขุม เฉลยทรัพย์ (2547, หน้า 246) กล่าวว่า หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถอ่านได้ทางอินเทอร์เน็ต ในอนาคตอาจเข้ามาแทนที่หนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษเหมือนอีเมล์ที่แทนที่การส่งจดหมายไปทั่วโลกก็เป็นได้ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือที่จำเป็นต้องมีในการอ่านหนังสือประเภทนี้ก็คือ ฮาร์ดแวร์ประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาอื่น ๆ พร้อมทั้งติดตั้งระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้อ่านข้อความต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ออแกไนเซอร์แบบพกพา พีดีเอ เป็นต้น ส่วนการดึงข้อมูล e-book ซึ่งอยู่บนเว็บไซด์ที่ให้บริการทางด้านนี้มาอ่านก็จะใช้วิธีการดาวน์โหลดผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าฮาร์ดแวร์ทุกชนิดจะอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดของชนิดไฟล์บางประเภทนั่นเอง ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยการนำซอฟแวร์บางตัวมาช่วย สำหรับซอฟแวร์ที่ใช้งานกับ e-book และซอฟแวร์ที่ใช้เขียนข้อมูลออกมาเป็น e-book ลักษณะไฟล์ของ e-book หากนักเขียนหรือสำนักพิมพ์ต้องการสร้าง e-book จะสามารถเลือกได้ รูปแบบ คือ Hyper Text Markup Language (HTML), Portable Document Format (PDF), Peanut Markup Language (PML) และ Extensive Markup Language (EML)  

            6ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-library) สุขุม เฉลยทรัพย์ (2547, หน้า 246-247) กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมไทยเราอยู่ในยุคข่าวสาร ทำให้มีการกระจายข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งรวมถึงการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและชุมชนมีส่วนร่วม ส่งผลให้รูปแบบการให้บริการของห้องสมุดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยจะมีการให้บริการยืมหรือคืนทรัพยากรห้องสมุดด้วยรหัสแถบบาร์โค้ด ระบบปรับอัตโนมัติ ระบบป้องกันทรัพยากรสูญหาย ระบบสถิติการยืม การคืนอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ และสถิติการใช้บริการห้องสมุด ระบบสำรวจหนังสือประจำปี ระบบพิมพ์บาร์โค้ดทั้งทรัพยากรและสมาชิก ระบบแลกเปลี่ยนถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโปรแกรมได้ด้วยมาตรฐาน USMARC และ ISO2709 ดังนั้น ห้องสมุดจึงต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะงานด้านบริการจะมีบทบาทที่เด่นชัด ความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงเป็นแรงผลักดันให้ห้องสมุดเปลี่ยนการให้บริการงานห้องสมุดมาเป็นระบบอัตโนมัติ เช่น (1) ระบบที่สามารถให้บริการและตรวจสอบได้ (2) ระบบการยืม-คืน ทรัพยากรด้วยแถบรหัสบาร์โค้ด (3) ระบบการสืบค้นข้อมูลทรัพยากร (4) ระบบตรวจเช็คสถิติการการให้บริการห้องสมุด (5) ระบบตรวจเช็คสถิติการยืม-คืนทรัพยากร (6) การสำรวจทรัพยากรประจำปี และ (7) การพิมพ์บาร์โค้ดทรัพยากรและสมาชิก

อ้างอิง www.youtube.com/watch?v=tw77ntdllu8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น