วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทิศทางการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต

ทิศทางการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารักษ์  ชัยมงคล
อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาการบริหารการศึกษา




                     บทความชิ้นนี้เป็นบทย่อความจากงานแปลเรื่อง “Future Direction in Human  Resource  Development  (HRD)  Practice : Chapter  II)  ของ  Lyle  Yorks  (2005)  และรายงานการบรรยายของ  Professor  Dr. William  Ball  จาก  Michigan  University  เรื่อง  “Oragnizations  and  Management  in  Tommorow’s  World”  ซึ่งสรุปความได้ว่า
                        Lyle  Yorks  กล่าวถึง  การทำนายกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  (HRD)  ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดภาวะเสี่ยงทางธุรกิจ  (Risky  Business)  ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่  21  การจะเข้าสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญได้นั้นคงต้องอาศัยกลยุทธ์การเรียนรู้ซึ่งนำมาจากความรู้สึกของความไม่แน่นอนจากความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  ฉะนั้น  ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพทางด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้พยายามจัดเตรียมแบบอย่างที่มีคุณค่าต่อการดำเนินงานขององค์การของเขาและสำคัญที่สุดคอยติดตามและเฝ้าดูผลการทำงานในการประกอบอาชีพของตนอย่างต่อเนื่อง
                        Yorks  ได้อ้างถึงแนวคิดของเชอร์มัค,  ลินแฮมและเราน่า  (Chermack, Lynham  and  Ruona)  ที่กล่าวถึง  แนวโน้มภาวะวิกฤตและความไม่แน่นอนก่อผลกระทบต่อการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  จากแนวโน้มทางสังคม  เศรษฐกิจและการฝึกฝนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันจนเกิดเป็นศักยภาพที่ก่อผลกระทบต่อการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  โดยอ้างถึงแนวคิดของฮอดจ์สันและชวาสซ์  (Hodson  and  Schwartz)  ที่กล่าวว่า  แนวโน้มการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตมีผลกระทบที่ไม่แน่นอนและเป็นภาวะวิกฤตที่รุนแรงเพราะว่าไม่สามารถคาดเดาไว้ล่วงหน้าได้  ซึ่งเชอร์มัคและคณะได้สรุปถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบการดำเนินงาน  6  ประการคือ
                        1.  การแข่งขันด้านความรู้ความชำนาญและทักษะเฉพาะด้านในระดับสูง  (Competition  for  the Expertise  Elite) 
                        2.  โลกาภิวัฒน์  (Globalization) 
                        3.  สถานที่หรือที่ทำงานในการควบคุมการดำเนินการขององค์การหรือบุคลากร  (Locus  of  Control  Qrganizational  or  Individual) 
                        4.  ความรู้ความสามารถด้านการตลาด  (Marketability  of  Knowledge)
                        5.  ยุคสมัยต่อไป  (Next  Age)  และ
                        6.  ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  (Technological  Explosion) 
                        ลำดับแรก  2 ประการสำคัญคือ  ความก้าวหน้าของโลกาภิวัฒน์และการเกิดนวัตกรรมใหม่ทางด้านเทคโนโลยี  เราไม่สามารถพยากรณ์หรือคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร  ลำดับถัดมาคือการเข้าถึงตลาดเพราะเราไม่สามารถจำแนกหรือเข้าใจถึงความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างแน่นอน  ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่สำคัญ  เราไม่รู้ว่าความรู้ด้านการบริหารธุรกิจเป็นอย่างไร  (We  are  not  in  the  Knowledge Management  Business)” 
                        ส่วนผลกระทบลำดับสุดท้าย  3  ประการ  กล่าวคือ  ในยุคสมัยต่อไปความรู้ความสามารถแบบเดิมจะล้าสมัย  พฤติกรรมองค์การจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ความรู้ใหม่  มีความเป็นร่วมสมัยและคนที่มีคุณภาพขององค์การจะมีลักษณะเชาวน์ปัญญาดี  รู้จักการปรับตัวและมีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว    องค์การจะมีการปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตามกลยุทธ์ด้านโอกาสและเงื่อนไขทางด้านธุรกิจ  การจัดเตรียมคนจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและขยายขอบเขตให้กว้างขวางออกไปเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในอนาคต


                        การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือบ้านซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้และการประกอบธุรกิจที่สำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับรากฐานทางสังคมกับความเข้าใจเรื่อง  ระบบเศรษฐกิจใหม่  ที่มิใช่เฉพาะความต้องการด้านผลกำไรเหมือนอดีตเพียงเท่านั้น  แต่การดำรงอยู่ในระบบอย่างยาวนานและยั่งยืนก็คือความสามารถในการปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา  ซึ่งอาจจะเรียกให้เหมาะสมที่สุดก็คือ  ยุคแห่งข้อมูลข่าวสารสนเทศ  (Information  Age)”  หรือ  ยุคแห่งความรู้  (Knowledge  Age)”  และที่สุดสถานที่สำหรับการประกอบธุรกิจไม่จำเป็นต้องอาศัยสถานที่ที่ใหญ่โตและมีพนักงานจำนวนมากเหมือนในอดีต  นักธุรกิจจะอยู่พื้นที่ใดของโลกก็ได้ขอให้มีเพียงโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ทได้ ซึ่งมีลักษณะเป็น  E – Commerce  ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานร่วมกันในทุกระดับได้ด้วย  นอกจากนี้การระดมความคิดเห็นใช้การประชุมแบบเสมือนจริงที่ผู้เข้าร่วมประชุมอยู่กันคนละสถานที่แต่สามารถร่วมประชุมกันได้โดยอาศัยอุปกรณ์โทรคมนาคม  เช่น โทรทัศน์วงจรปิด  (Virtual Teleconferences) ฯลฯ  หรือจากเครือข่ายพื้นฐานจากห้องคุยกัน (Web – base Chat  Rooms)  โดยอาศัยความเชื่อมั่นในการคัดเลือกเครือข่ายที่มีมาตรฐาน
                        การลดขนาดองค์การและการจัดการให้มีขนาดเล็กลง  (Authoritarian  Control  and  Micromanagement)  จากกระบวนการที่เรียกว่า  Down  Sizing  เป็นการลดขนาดองค์กรให้เล็กลง  ย่นเส้นทางการบังคับบัญชาให้สั้นและรวดเร็วแต่มีประสิทธิภาพประเภท  จิ๋วแต่แจ๋ว 
                        และได้นำเสนอความคิดของเบนสัน,  จอห์นสันและคูชิงเก้  (Benson, Johnson  and  Kuchinke)  จำแนกการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็น  3  ลักษณะที่มีผลกระทบต่อการเป็นเจ้าของกิจการในยุคที่เปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิตอลมากยิ่งขึ้น  ซึ่งประกอบด้วย
                        1.  ขอบเขตการวิเคราะห์ความต้องการและการออกแบบโปรแกรม  (The  Scope  of  needs  Analysis  and  the  Design  of  Programs) 
                        2.  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝึกอบรมหรือผู้ให้การศึกษากับผู้เรียนในกระบวนการเรียนรู้  (The  Relationship  between  Trainers/Educator  and  Learners  in  the  Learning  Process) 
                        3.  โอกาสในการปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ  (Enhanced opportunities  for  Informal  Learning) 
                        ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ประเมินการออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้เป็น  2  แนวทาง  คือ  ทักษะทางด้านเทคโนโลยีของผู้เรียนและระดับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและได้นำความคิดของลี,  โอเวนและเบนสัน  (Lee, Owen  and  Benson) ที่สรุปว่า  การออกแบบอะไรนั้นควรได้พิจารณาถึงการเรียนรู้และระบบที่ดีที่สุดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโปรแกรม  การออกแบบต้องอาศัยข้อมูลจากภายนอกและระดับ          ของผู้สอนกับเทคนิคของผู้เรียนประกอบกันเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความสำเร็จของระบบ  การพิจารณาถึงความจำเป็น  2  ประการ  คือ  ทฤษฎีการเรียนรู้  (Learning  Theory)  และความสามารถทางด้านเทคโนโลยี (Abliity  of  Technology)  โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์  (E – learning  Technology)  ซึ่งมีลักษณะเป็นคนที่มีทักษะใหม่  ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพทางด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งหลายเชื่อว่าแนวโน้มจะมีผู้สมัครเรียนเทคโนโลยีเหล่านี้จนเกิดความรู้ความสามารถและมีความชำนาญที่มีศักยภาพเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น  ซึ่งบทสรุปจากบทความของ  Lee  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ผู้เรียนกับเทคโนโลยีจะเป็นเพื่อนคู่ขากันอย่างต่อเนื่อง  โดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีจะค่อย ๆ ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเชี่ยวชาญในโอกาสต่อไป  ฉะนั้น  งานด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากขึ้นทุกที่ในเครือข่ายการเรียนรู้พื้นฐานรวมทั้งโครงการที่มีความสลับซับซ้อนสำหรับทักษะระดับการจัดการและบูรณาการร่วมกับเนื้อหาความรู้ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ  ผู้ออกแบบการสอนหรือผู้แนะนำรวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตสื่อการเรียนรู้เหล่านั้นด้วย
                        นอกจากนั้น  Lee  ยังมีความเชื่อว่ารายละเอียดต่าง ๆ ในการเรียนรู้จะทำให้การทำงานเกิดทักษะและง่ายขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบตัวต่อตัว  แม้แต่ปัญหาจากความคิดเห็นที่ขัดแย้งยิ่งทำให้เกิดความสามารถเฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบที่ต้องอาศัยกระบวนการผสมผสานเทคนิควิธีและปัจจัยประกอบอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ
                        เบนสันและคณะ.  (Benson  et  al.)  เสนอข้อสังเกต  ศักยภาพที่สมบูรณ์ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกสามารถสนับสนุนการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ  สอดคล้องกับความคิดของเดนเนนและหวัง  (Dennen  and  Wang)  ได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไว้ว่า  เราสามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนโอกาสหรือวิธีการเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทางเทคโนโลยี  ซึ่งประกอบด้วยลักษณะ  2  ประการคือ 
                        1.  การเรียนรู้ในการพิจารณาการจัดการที่มีประสิทธิภาพ (Learning  how  to  Eonduct  Efficien  Searchs)  และ
                        2.  การเรียนรู้ในการเข้าร่วมหรือก่อตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย  (Learning  how  to  Establish  the Validity  of  what  they  Aecess)
                        การบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์การใดที่มีความสามารถในการจัดการองค์ความรู้  (Knowledge  Management)  ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ด้านความรู้ความสามารถที่ขัดแย้งกันภายในสนามแข่งขันระหว่างการบริหารการพัฒนาทรัพยากรกับเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ  (Human Resource Development  and Information Technology/HRD and IT)  องค์การใดจะครอบคลุมขอบเขตหรืออาณาจักรการจัดการองค์ความรู้ได้มากกว่ากัน  ในความเป็นจริงถ้าทั้งสองฝ่ายร่วมกันคิดร่วมกันทำจะมีส่วนช่วยให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้รับการสนับสนุนและเกิดศักยภาพในความร่วมมือให้บรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ตกลงกันไว้ได้
                        ถึงแม้ว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงความจริงใจของแต่ละฝ่าย  แต่กระแสแห่งแฟชั่นในโลกปัจจุบันก็พยายามบีบบังคับให้เกิดการเรียนรู้ช่องว่างระหว่างกลางแห่งองค์ความรู้เหล่านั้นไม่ว่าจะใช้วิธีการประนีประนอมหรือผสมผสานการใช้ประโยชน์กับเทคโนโลยี  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถทำให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและช่วยประสานความร่วมมือร่วมใจตามทักษะที่กำหนดไว้ตามเกณฑ์ขั้นพื้นฐานเพื่อจะได้นำเข้าสู่โปรแกรมการเรียนรู้ที่ได้เลือกสรรไว้อย่างเหมาะสม
                        โลกาภิวัฒน์สามารถให้ทางเลือกแก่กิจการแต่ละองค์การในการจะเลือกเข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์หรือไม่  อย่างไรก็ดีโปรแกรมการฝึกอบรมทั้งหลายของแต่ละองค์การสามารถก่อประโยชน์จากเอกสาร  ตำราหรือหนังสือ  รวมทั้งสื่อมวลชนที่หลากหลาย  เช่น  โทรทัศน์  วิทยุและหนังสือพิมพ์  ฯลฯ  (Text  Multimedia)  ครอว์ฟอร์ด  เบอเวอริดจ์  (Crawford Beveridge)  ประธานกรรมการบริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ของซันไมโครซิสเท็มส์  (Sun  Microsystems)  เน้นความคิดในการก่อตั้งสถาบันสำหรับการเรียนรู้ของทีมงานในหลายประเทศเพราะตระหนักถึงความหมายและความสำคัญต่อความท้าทายและการแข่งขันด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                        ความแตกต่างระหว่างกลุ่มพลังและกลุ่มพลวัตรใหม่กับกลุ่มประเพณีวัฒนธรรมแบบเก่า ๆ จะให้ความสำคัญกับการพิจารณาไตร่ตรองเพื่อการออกแบบการเรียนรู้ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายซึ่งเปรียบเทียบระหว่างองค์การแบบใหม่ของสหรัฐอเมริกากับแบบวัฒนธรรมเก่าของเกาหลีใต้  เป็นประเด็นสำคัญทำให้เกิด  Kim’s  Point  ซึ่ง  คิม  (Kim)  กล่าวว่า  ถึงแม้นวัตกรรมใหม่ขององค์การจะกำหนดสถานที่ที่มีความพิเศษเฉพาะสามารถเคลื่อนไหวได้ทั่วไปเพื่อตอบสนองการทำงานของยุคโลกาภิวัฒน์  ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เน้นถึงความร่วมมือในการเรียนรู้พฤติกรรมที่ผูกติดกับวัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นในที่นี้ได้อธิบายถึง  บทบาทความรับผิดชอบและการเปลี่ยนแปลง  (Responsibility  and  Changes)”  ซึ่งประกอบด้วยประเด็นต่าง ๆ  12  ประการ  คือ
                        1.  การสร้างความร่วมมือระหว่างงานวิจัยกับแบบแผนการปฏิบัติ  (Creating  Synergy  between  Research  and  Practice) 
                        2.  การพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงขึ้นทำให้การเรียนรู้เกี่ยวกับคนและสังคมหายไป  (Leveraging  Technology  without  Losing  the  Human  and  Social  Compoment  of  Learning) 
                        3.  การสร้างความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว  (Striking  a  Balance  between  and  Personal  Life)
                        4.  ความตั้งใจที่จะนำความคิดสร้างสรรค์ให้ที่ทำงานมีความเมตตากรุณาความเอื้ออาทรต่อกัน  (Striving  Toward  the  Creation  of  Humane  Workplace) 
                        5.  ยอมรับทุนทางปัญญามีความสำคัญที่สุดรวมทั้งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระดับล่างขององค์การ (Acknowlegding Intellectual Capital as Lifeblood or Truebottom Line of  Organizations)
                        6.  การพัฒนาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  (Developing  Social  Responsibility) 
                        7.  ความร่วมมือหรือการเป็นหุ้นส่วนในบทบาทการศึกษาภาวะการเปลี่ยนแปลง  (Part  nering  in  the  Changing  Role  of  Education)
                        8.  การพัฒนาการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนทั้งภายในและภายนอกองค์การ  (Developing  Collaborative  Partnerships  Bothinside  and  Outside  the  Organization)
                        9.  การเข้าร่วมรับรู้โลกาภิวัฒน์  (Embracing  Globalization)
                        10.  ความหลากหลายทางวัฒนธรรม  (Multiculturalism)
                        11.  การจัดการองค์ความรู้และการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  (Managing  Knowledge  and  Learning  Effectively)
                        12.  สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  (Fostering  Lifelong  Learning)

บทสรุป
                        ตลอดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง  การบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นกระบวนการเพื่อการเตรียมตัวเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อความมั่นคงในระบบสังคมและเศรษฐกิจที่มีพลังอันเข้มแข็งโดยเฉพาะเทคโนโลยีและโลกาภิวัฒน์จะเป็นพลังขับเคลื่อนต่อความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีสิ่งที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องต่อความมีคุณค่าต่อผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมและโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานด้านการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  การพัฒนาองค์การสู่องค์การแห่งการเรียนรู้  เพื่อจะชนะในการแข่งขันซึ่งประกอบด้วย 2  แนวทาง  คือ  การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  (Continuos  Improvement)  และการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรอัจฉริยะหรือองค์การแห่งการเรียนรู้  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่  21  จึงเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ  (Integration  Development) 
 
 ความคิดเห็นของผู้แปล
                จากการแปลและศึกษาเนื้อหาความรู้สรุปได้ว่า  อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนมีประเด็นที่อาจจะก่อผลกระทบมากมายโดยเฉพาะการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  (HRD)  ดังที่  Lyle  Yorks  ได้นำเสนอความคิดของ  Chermack  และคณะ  ประการ  Benson  และคณะของประเด็นบทบาท  HRD  ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น  Denen  และ  Wang  เสนอความคิดสนับสนุนการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ  และ  Kim  พยายามนำปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงอยู่ในองค์การอย่างเหมาะสมกับกาลเวลาและความเรียบง่ายด้วย  Kim’s  point  12  ประการ  เมื่อหลอมความรู้ทั้งหมดพอสรุปได้เป็นประเด็นสำคัญคือเมื่อกระแสโลกได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว  องค์การทุกองค์การจะปรับตัวเองให้สอดคล้องและเคลื่อนไหวตามอย่างเหมาะสมเพื่อให้กิจการของตนดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะกระบวนการ  HRD  เป็นตัวขับเคลื่อนอย่างสำคัญโดยอาศัยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นตัวเร่งที่มีพลวัตรในตัวมันเองแต่ก็ต้องไม่พยายามลืมคุณค่าความเป็นมนุษย์โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานในองค์การ  แนวโน้มในอนาคตก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่งจนไม่สามารถจะกำหนดหรือบอกว่าแบบอย่างที่เหมาะสมในการบริหารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อะไรที่ดีที่สุดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพองค์ประกอบของแต่ละองค์การไม่ว่าจะเป็น  คน  เทคโนโลยีและเป้าหมายในการดำเนินงานขององค์การสอดคล้องกับแนวความคิดของศาสตราจารย์  ดร.                วิลเลี่ยม  บอลล์  (Prof.  Dr. William  Ball)  จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา  จังหวัดนครสวรรค์  เมื่อวันที่  23  กรกฎาคม  2549  ในหัวข้อเรื่อง  “Organizations  and  Management  in  Tomorow’s World”  ซึ่ง  อารักษ์  ชัยมงคล (2549 : 2-3) ได้สรุปความไว้ว่า  การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันคือยุคโลกาภิวัฒน์  (Globalization)  เป็นกระบวนการที่แตกต่างจากยุคอดีตอย่างสิ้นเชิง  จนยากที่จะพยากรณ์ได้ว่าการบริหารองค์การและการจัดการ  (Organizations  and  Management)  ในอนาคตจะมีรูปลักษณ์และแบบอย่างอย่างไรองค์ความรู้และทฤษฎีทางการบริหารเก่า ๆ  อาทิ  POCCOC, POSDCORB, PPBS  หรือแม้แต่ MBO   จะเป็นเพียงหลักฐานทางวิชาการที่อยู่ในตำราเรียนว่ายุคสมัยหนึ่งทฤษฎีต่าง ๆ   เหล่านี้ได้มีผลต่อการบริหารองค์การที่ได้รับการยอมรับ  รวมไปถึงแนวคิดในการบริหารแบบต่าง ๆ  ในยุคที่ผ่านมา ได้แก่   แบบวิทยาศาสตร์  (Scientific  Management)   ตามแนวคิดของ   Frederick  W. Taylor,  Max Weber, Gulick & Urwick และ Frank Gilbreth   แบบมนุษยนิยม  (Humanistic)  ของ Lilian M. Gilbreth, Henry Fayol และ Mary Parker Follet  ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องคนในองค์การมากขึ้นจนมาถึง   Chester I. Barnard   บิดาแห่งองค์การแบบไม่เป็นทางการ  (Informal- Organization Theory)  อธิบายถึง  ความสัมพันธ์องค์การแบบไม่เป็นทางการที่แฝงตัวและมีอิทธิพลต่อองค์การแบบเป็นทางการ    จนเข้าสู่แบบมนุษยสัมพันธ์    (Human  Relations)     และแบบทรัพยากรมนุษย์  (Human Resources)   ประกอบด้วยนักคิดที่มีชื่อเสียง   อาทิเช่น   Elton Mayo, Fritz   Roethlisberger and others  (Hawthorn Study)     ช่วงปี  ค..  1924 -1933  ซึ่งเน้นการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การ     ต่อมาแนวคิดเรื่องทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของ Abraham H.Maslow ที่กล่าวถึงความต้องการในระดับต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานในองค์การและทฤษฎี   X – Y  ของ Douglas Mcgregor ที่แบ่งแยกพฤติกรรมมนุษย์เป็น  กลุ่มซึ่งมามีบทบาทมากในประเทศญี่ปุ่นและประสบความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศจนสามารถเทคโอเวอร์บริษัทอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และ     อื่น ๆ ของอเมริกา ในช่วงยุค ค.. 1980  เป็นต้น
                จนมาถึงเมื่อประมาณ   20 -25 ปีที่ผ่านมา   โลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากคลื่นลูกที่  2 การผลิตในกระบวนการอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร  (Information  Technology)  หรือยุคหลังสมัยใหม่  (Post – modernism)  โลกทั้งโลกแคบลงด้วยการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายอินเตอร์เนต   หรือเรียกว่า  ยุคโลกาภิวัฒน์  (Globalization)    เป็นการบริหารจัดการฐานข้อมูล  (Management  of Database)   องค์การใดมีระบบการจัดการฐานข้อมูลได้ดี   และสามารถรวบรวมข้อมูลไว้ได้มากจะเป็นผู้ได้เปรียบ   ดังเช่น  ธุรกิจของไมโครซอพท์ได้สร้างปรากฏการณ์ในการบริหารจัดการรูปแบบใหม่จนทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วครอบครองอาณาจักรทั่วโลก    อันเป็นกระบวนการที่เรียกว่า  American Way   ทำให้ธุรกิจของอเมริกาที่เคยล้าหลังและทรุดโทรม   กลับมาเติบโตและแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นได้  ในขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาอย่างมากมายด้วยคงรักษาวัฒนธรรมองค์การที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตและไม่พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์การและการจัดการ  จนเมื่อ  ปีที่ผ่านมาประเทศไทยและมาเลเซียได้ขับเคลื่อนแนวคิดของ   Information  Technology   เข้าสู่ประเทศ  ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาประเทศใหม่   และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะเหนือกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เช่น  ลาว  เขมร  เวียดนาม  พม่าและแม้แต่เกาหลีเหนือ
                การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) ในยุคข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด ประกอบด้วยการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยแบ่งระดับบุคคลออกเป็น ระดับด้วยกันคือ  ระดับบุคคล   (Individual Level) ระดับทีมหรือกลุ่มงาน  (Team or Group or Department Level)  และระดับองค์การ (Corporate Level)  โดยเน้นโครงสร้างองค์การแบบแบนราบ (Flat Organization)   มิติในการพัฒนามนุษย์เป็น  มิติคือ  พัฒนาโดยการใช้การศึกษาและการฝึกอบรม  มิติการพัฒนาอาชีพ (Career Development)   คือการพัฒนาให้เป็นมืออาชีพที่จะตอบสนององค์การและการจัดการได้   เช่น   รู้จักการประเมินตนเพื่อศึกษาว่าตนเองมีความสามารถ    มีบุคลิกภาพและแรงจูงใจในอาชีพแบบใด  รวมถึงการเป็นนักบริหารมืออาชีพที่มีทักษะในการจัดการเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ   การสรรหาและการคัดเลือก   การพัฒนา  การประเมินผลและการสร้างทายาททดแทน   และมิติสุดท้ายคือ  การพัฒนาองค์การ (Organization Development)  คือปรับเปลี่ยนไปสู่ องค์การแห่งการเรียนรู้” (Learning  Organization)   เพื่อชนะในการแข่งขันซึ่งประกอบด้วย  แนวทาง   คือ   การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  (Continuous Improvement) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การทำ TQM (Total Quality Management) หรือกลยุทธ์การแข่งขันเวลา   และการปรับเปลี่ยนเป็นองค์การอัจฉริยะ   หรือองค์การแห่งการเรียนรู้  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่   21 จึงเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ  (Integration  Development)   ซึ่งประกอบด้วย
                                1.  เข้าใจเรื่องราวของธุรกิจในด้านวิสัยทัศน์   กลยุทธ์  โครงสร้างองค์การ  รูปแบบใหม่และวัดผลสำเร็จเชิงกลยุทธ์
                                2.  เข้าใจมิติการบริหารและพัฒนาคนที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนารายบุคคล  การพัฒนาอาชีพและการพัฒนาองค์การ
                                3.   เข้าใจถึงระดับของการพัฒนาองค์การในรูปแบบใหม่ทั้ง  ระดับ  คือ  ระดับบุคคล  ระดับทีมงานและระดับองค์การ บนพื้นฐานการแข่งขันหลากหลายรูปแบบและวิธีการ
                องค์การในอนาคตไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ที่แน่นอนหรือขนาดที่ใหญ่โต   สามารถเคลื่อนที่ได้ตลอดเวลาตามผู้ให้บริการหรือการให้บริการถึงสถานที่ของผู้รับโดยอาศัยเพียงโทรศัพท์เคลื่อนที่  และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่ใช้อินเตอร์เนตได้มีลักษณะเป็น E – commerce  องค์การจะมีบุคลากรไม่มากนัก   ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานและทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานในทุกระดับได้ด้วย
                ในทัศนะของผู้ศึกษาเห็นว่า  แนวคิดของ   Professor Ball   เหมาะสมกับองค์การภาคธุรกิจเป็นสำคัญและต้องให้เวลากับการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ  แต่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับภาคประชาชน   กล่าวคือ  เมื่อองค์การธุรกิจเข้มแข็งย่อมมีส่วนกระตุ้นและเร่งเร้าให้ภาคประชาชนตอบสนองคือการบริโภคและเป็นการบริโภคที่เกินภาวะจำเป็นต่อการดำรงชีวิต   ทำให้เกิดการสูญ เสียทรัพยากร    และกระบวนการผลิตต้องเพิ่มขึ้น     ถึงแม้จะทำให้องค์การธุรกิจเติบโตและร่ำรวยขณะที่ภาคประชาชนจะยากจนลง   เพราะไม่สามารถหารายได้เพียงพอต่อความต้องการการบริโภคยิ่งในประเทศไทยเห็นได้ชัดยิ่งว่าประชาชนส่วนใหญ่ขาดศักยภาพในการเพิ่มรายได้  จากกรณีตัวอย่างกองทุนหมู่บ้าน     เมื่อรัฐมีนโยบายกระจายทุนสู่ภาคชนบทระดับรากหญ้าเพื่อให้ประชาชนมีทุนนำไปลงทุนเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาหนี้  กลับกลายเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้มากขึ้น  ทำให้ขาดความสุขในการดำรงชีวิต   เมื่อเปรียบเทียบการบริหารจัดการตามแนวพระราชดำริ  เศรษฐกิจพอเพียง   น่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาคประชาชนให้พอมีอยู่มีกินและมีความสุขในชีวิตได้มากกว่า  ซึ่งแนวโน้มในอนาคตคาดว่า  ภาครัฐและธุรกิจเอกชนคงให้ความสนใจมากขึ้นเพราะจะทำให้สมาชิกในองค์การร่วมกันทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม  เพราะไม่ต้องกังวลกับการแข่งขันจนเกินไป  เติบโตและมีการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) เหมือนกับหลายประเทศที่สนใจแนวพระราชดำริและนำไปปรับใช้ในประเทศของเขา
ฉะนั้น   โลกอนาคต   จะเป็นโลกแห่งการแข่งขันกันด้วยนวัตกรรม  (Innovation)  เป็นปัจจัยหลักเพื่อขับเคลื่อนความกินดีอยู่ดีของคนในสังคม    การแข่งขันและความร่วมมือระหว่างชุมชนและประเทศอื่น ๆ   ไม่ใช่แข่งขันเพื่อความต้องการในการสะสมปัจจัย  (Factor Accumulation)   เช่น  ทรัพยากรธรรมชาติ   ทุนหรือแรงงานเป็นปัจจัยหลักเหมือนอดีตที่ผ่านมา
                การสร้างนวัตกรรมต้องอาศัยความรู้และกิจกรรมที่จะสร้างความมั่งคั่งจากความรู้นั้น   ยิ่งใช้มากยิ่งมีแต่ความเจริญงอกงามดังคำกล่าวที่ว่า  ยิ่งใช้  ยิ่งงอกงามแต่ความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติ   ทุนและแรงงาน  ยิ่งใช้ยิ่งหมดไป  การพัฒนาแนวทางแรกจึงเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงคือใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  ทุนและแรงงานอย่างพอเหมาะพอควร  โดยเน้นการใช้ภูมิปัญญา  ประสบการณ์และการรู้จักกินรู้จักใช้เหมาะแก่ฐานะ    ซึ่งแตกต่างกับแนวทางหลังที่เป็นแบบไม่ยั่งยืน   นั่นคือจะได้รับประโยชน์เฉพาะบุคคล    เฉพาะกลุ่มเฉพาะยุคสมัยได้แก่ผู้ที่สะสมทรัพยากรและทุนไว้มากก็จะได้เปรียบแต่จะทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวในอนาคต              
                  สรุปได้ว่า  โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ( Knowledge Based Society and Economy)  ทุกสังคมจะต้องมีความสามารถในการนำความรู้มาสร้างนวัตกรรม   สำหรับเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม  ประเทศและโลก  ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างขึ้นนั้น  จะต้องก่อประโยชน์ต่อสังคมและส่วนต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างทั่วถึงและเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขันและเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสมดุล   สังคมไทยจึงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทันและสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของทั้งสังคม  (Paradigm Shift หรือ Mindset Change)   สังคมไทยจึงจะอยู่รอดได้จากสภาพบีบคั้นจากสภาพแวดล้อมรอบด้าน   โดยเฉพาะสภาพบีบคั้นจากกระแสโลกาภิวัฒน์นั่นเอง