บทที่ 2


http://www.youtube.com/watch?v=GaPHDrmyHdg
วีดีโอ เรื่อง วิวัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศ

วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ

          ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ ตั้งแต่ระบบสังคม องค์การธุรกิจ และปัจเจกชน โดยเทคโนโลยีสารสนเทศกระตุ้นให้เกิดการปรับรูปแบบ ความสัมพันธ์ภายในสังคม การแข่งขัน และความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนกิจกรรมการดำรงชีวิตของบุคคลให้แตกต่างจากอดีต ดังนั้น การศึกษาถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศมากยิ่งขึ้น ตามที่ พรรณี สวนเพลง (2552, หน้า 84-92) ได้กล่าวว่า วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศจากยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิตอลนั้น มีความเป็นมาที่ยาวนานนับพันปี การคิดค้นเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนผู้ใช้ตามไม่ทัน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีส่วนช่วยให้สามารถคาดการณ์ภาพอนาคตของเทคโนโลยีได้ จึงแบ่งวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ ออกเป็น 2 ด้าน คือ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. วิวัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
            ก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ วิวัฒนาการคอมพิวเตอร์เริ่มจากมนุษย์ใช้นิ้วมือในการนับตัวเลข ใช้ไม้ขีดเขียนบนพื้นดิน หรือใช้ลูกหินมาเรียงกันเป็นแถวแทนตัวเลขในแต่ละหลัก ใช้เชือกมาร้อยลูกหิน และจัดเรียงในลักษณะเหมือนลูกคิด และพัฒนาดัดแปลงกลายเป็นเครื่องมือกลไกต่าง ๆ เพื่อช่วยในการคำนวณ เครื่องมือคำนวณในยุคแรกนี้มีลักษณะเป็นกล (machines) ประกอบด้วย ฟันเฟือง รอก และคาน ทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถคำนวณทางคณิตสาสตร์ในระดับเบื้องต้น ต่อมาในปี ค.ศ. 1822 ชาร์ลส์ แบ็บเบจ ได้ออกแบบเครื่อง different engine และมีการพัฒนาเครื่องใหม่ที่น่าเชื่อถือภายใต้ชื่อว่า analytical engine ซึ่งประกอบด้วยหน่วยความจำ (memory unit) สามารถจัดเก็บตัวเลขและนำไปคำนวณ สามารถพิมพ์ข้อมูลได้อัตโนมัติ สามารถนำเข้าข้อมูลด้วยบัตรเจาะรู (punched cards) และใช้ชุดคำสั่งในการควบคุม พร้อมกับมีฟังก์ชั่นหลาย ๆ อย่างเช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน ทำให้ชาร์ลส์ แบ็บเบจ ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งคอมพิวเตอร์ บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่มีส่วนช่วยออกแบบเครื่องของ แบ็บเบจ คือ เลดี้ ออกุสต้า ไบรอน โดยเสนอแนวคิด และเขียนโปรแกรมชิ้นแรกเพื่อใช้กับเครื่องดังกล่าว ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก ในปี ค.ศ. 1887 เฮอร์แมน ฮอลเลอริท ได้พัฒนาเครื่อง tabulating machines ที่ใช้กับบัตรเจาะรู เพื่อนำมาใช้งานสำรวจสำมะโนประชากรของอเมริกันชน และต่อมาในปี ค.ศ. 1896 เฮอร์แมน ฮอลเลอริท ได้ก่อตั้งบริษัทของตนเองคือ The Tabulating Machine Company ภายหลังได้รวมกับบริษัทอื่นอีกกว่า 10 แห่ง ภายใต้ชื่อว่า International Business Machines ซึ่งปัจจุบัน คือ บริษัท IBM
            จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศคอมพิวเตอร์ สามารถแบ่งยุคของคอมพิวเตอร์ตามวิวัฒนาการได้เป็น ยุค ดังนี้
            1. ยุคที่ 1 ยุคของหลอดสุญญากาศ (the first generation, 1951-1958) เครื่องในยุคนี้ใช้หลอดสุญญากาศ และดรัมแม่เหล็ก (magnetic drum) เป็นส่วนประกอบหลัก โดยดรัมแม่เหล็กจะถูกใช้เป็นหน่วยความจำหลัก (primary memory) และใช้บัตรเจาะรูในการเก็บข้อมูลและคำสั่งโปรแกรม และใช้ภาษาเครื่องซึ่งเป็นรหัสเลขฐานสองในการควบคุมโปรแกรมเครื่องคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคนี้ ได้แก่ IBM 704, 705 และ 709 ซึ่งทำให้บริษัท IBM กลายเป็นแหล่งผลิตคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 
ภาพ 1 ตัวอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 1
ที่มา. จาก เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้ (หน้า 85), โดย พรรณี สวนเพลง, 2552, กรุงเทพมหานครบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).

            2. ยุคที่ 2 ยุคของทรานซิสเตอร์ (the second generation, 1958-1964) ในยุคนี้มีการประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ (transistor) เข้ามาใช้งานแทนหลอดสุญญากาศ ทำให้เครื่องทำงานได้เร็วขึ้น มีความถูกต้องมากขึ้น และมีการสร้างวงแหวนแม่เหล็ก (magnetic core) เป็นหน่วยความจำภายใน เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลและชุดคำสั่งแทนดรัมแม่เหล็ก ภาษาที่ใช้ คือ ภาษาระดับสูงต่าง ๆ เช่น ภาษาฟอร์แทรน โคบอล และภาษาแอสแซมบลี เป็นการใช้สัญลักษณ์แทนคำสั่งต่าง ๆ แต่คอมพิวเตอร์ทำงานได้กับภาษาเครื่อง ดังนั้น จึงมีตัวคอมไพเลอร์และอินเตอร์พรีเตอร์ในการแปลงเป็นภาษาเครื่อง และมีการพัฒนาหลักการประมวลผลแบบขนาน (parallel processing) โดย แดเนียล สล็อตนิค เพื่อให้คอมพิวเตอร์รับข้อมูล ประมวลผล และแสดงข้อมูลได้พร้อม ๆ กัน รวมถึงการพัฒนาระบบมัลติโปรแกรมมิ่ง ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานหลาย ๆ โปรแกรมพร้อม ๆ กันได้ เครื่องคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคนี้ ได้แก่ IBM 1620, 401 และ Honeywell




ภาพ 2 วงแหวนแม่เหล็ก ทรานซิสเตอร์ และเครื่อง IBM 1620
ที่มา. จาก เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้ (หน้า 86), โดย พรรณี สวนเพลง, 2552, กรุงเทพมหานครบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).

            3. ยุคที่ 3 ยุคของวงจรแผงรวม (the third generation, 1965-1970) ในยุคนี้มีการพัฒนาแผงวงจรรวม (integrated circuit, IC) ประกอบด้วย ทรานซิสเตอร์และวงจรไฟฟ้าที่รวมอยู่บนแผ่นซิลิคอน ทำให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง แต่ประมวลผลได้เร็วขึ้น ในปี ค.ศ. 1965 เครื่องมินิคอมพิวเตอร์เครื่องแรกได้ถือกำเนิดขึ้น คือ PDP-8 ของบริษัท DEC (digital equipment corporation) และมีการใช้เทอร์มินัล หรือจอคอมพิวเตอร์ในการติดต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านทางคีย์บอร์ด ภาษาที่ใช้ในยุคที่ ได้แก่ ภาษา RPG, APL และ BASICA เริ่มมีการใช้ระบบปฏิบัติการ (operating system) ในการบริหารจัดการทรัพยากรของเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีการใช้ระบบ time sharing ทำให้ต่อเทอร์นัลจำนวนมากไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งได้ โดยผู้ใช้แต่ละคนสามารถทำงานได้พร้อม ๆ กัน


ภาพ 3 แผงวงจรรวม และเครื่อง PDP-8 ที่มา. จาก เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้ (หน้า 86), โดย พรรณี สวนเพลง, 2552, กรุงเทพมหานครบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).

            4. ยุคที่ 4 ยุคของวงจรแผงรวมขนาดใหญ่ (the fourth generation, 1971-1989) ในยุคนี้ได้มีการพัฒนานำวงจรรวมหลาย ๆ วงจรมารวมกันเป็นแผงวงจรขนาดใหญ่ (large scale integration, LSI) และแผงวงจรขนาดใหญ่มาก (very large scale integration, VLSI) บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ ซึ่งเป็นชิปหนึ่งอันที่ประกอบด้วยวงจรทั้งหมดที่ต้องใช้ในการประมวลผล คือ intel 4004 ในการเก็บ CPU ซึ่งประกอบด้วย ส่วน คือ หน่วยควบคุม (unit control) และหน่วยคำนวณและตรรก (arithmetic-logic unit) ในปี ค.ศ. 1975 ได้มีการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (personal computer, PC) เปลี่ยนระบบหน่วยความจำจากวงแหวนแม่เหล็กเป็นหน่วยความจำสารกึ่งตัวนำที่เรียกว่า RAM (random access memory) หลังจากนั้นได้มีการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดต่าง ๆ ได้แก่ ไมโครคอมพิวเตอร์ มินิคอมพิวเตอร์ เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดยเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีขนาดเล็ก ราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพ และมีการตื่นตัวกับการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งาน ทำให้เกิดระบบต่าง ๆ เช่น ระบบฐานข้อมูล (database) มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดการและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร (management information system, MIS) และมีการพัฒนาซอฟแวร์ต่าง ๆ ขึ้น เพื่อรองรับการทำงานของผู้ใช้ในแต่ละด้าน

ภาพ 4 แผงวงจรขนาดใหญ่ และไมโครโปรเซสเซอร์ชิปของอินเทล 4004
ที่มา. จาก เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้ (หน้า 87), โดย พรรณี สวนเพลง, 2552, กรุงเทพมหานครบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

          5. ยุคที่ 5 ปัจจุบัน (the fifth generation, 1990-ปัจจุบัน) ในยุคนี้ได้เน้นการพัฒนาความสามารถในการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ และความสะดวกสบายในการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจน มีการพัฒนาสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาขนาดเล็ก (portable computer) มีการพัฒนาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence, AI) เป็นหัวใจของการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ โดยหวังระบบคอมพิวเตอร์มีความรู้ความ สามารถวิเคราะห์ปัญหาด้วยเหตุผล เช่น หุ่นจำลองร่างกายมนุษย์ที่ควบคุมการทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ มีจุดประสงค์เพื่อให้ทำงานแทนมนุษย์ในงานที่ต้องการความเร็ว หรือเสี่ยงอันตราย


ภาพ 5 ตัวอย่างคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน
ที่มา. จาก เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้ (หน้า 88), โดย พรรณี สวนเพลง, 2552, กรุงเทพมหานครบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).
            จากข้อมูลข้างต้น สามารถเสนอได้เป็นแผนภาพวิวัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890-1994 และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1888-1996 ได้ดังต่อไปนี้


ภาพ 6 วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศปี ค.ศ. 1562-1948
ที่มา. จาก เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้ (หน้า 88), โดย พรรณี สวนเพลง, 2552, กรุงเทพมหานครบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).


ภาพ 7 วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศปี ค.ศ. 1952-1996
ที่มา. จาก เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้ (หน้า 89), โดย พรรณี สวนเพลง, 2552, กรุงเทพมหานครบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).

2. วิวัฒนาการของเทคโนโลยีเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคม 
            ยุคของเทคโนโลยีการสื่อสารโทรนาคม แบ่งออกเป็น ยุค ดังนี้
            1. ยุคที่ 1 ภาษาท่าทาง ภาษาพูด และภาพวาด ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เรื่องขนาดและลักษณะโครงสร้างสมองของมนุษย์ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เริ่มทำการสื่อสารโดยประสาทสัมผัส ต่อมาเมื่อมนุษย์มีพัฒนาการทางสมองมากขึ้น จึงเริ่มมีการใช้ภาษาก่อนการพูด และจากการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นพวกของมนุษย์ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมและประสบการณ์ร่วมกัน เช่น การล่าสัตว์ เป็นต้น ทำให้มีการพัฒนาภาษาพูด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข่าวสารระหว่างกันแทนการสัมผัส หลังจากมนุษย์เริ่มมีการพัฒนาภาษาพูดแล้ว มนุษย์ยังมีการพัฒนาส่งข่าวสารระยะไกลอีก เช่น การเคาะไม้ การรัวกลอง การส่งสัญญาณควันไฟ การโบกธง ตลอดจนการวาดภาพตามผนังถ้ำด้วยสีธรรมชาติ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ ความทรงจำ และความเชื่อต่าง ๆ เช่น ภาพวาดผนังถ้ำอัลตามิรา เมืองซานทานเดอร์ ทางเหนือของประเทศสเปน และถ้ำลาสโก ในเขตดอร์ดอจน์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส
            2. ยุคที่ 2 ภาษาเขียน ภาษาเขียนเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5,500 ปีมาแล้ว ภาษาเขียนยุคแรกจะเป็นภาษาภาพ (pictographic) ซึ่งแต่ละภาพใช้ในการสื่อสารแทนคำพูด หรือภาษาพูด ภาษาเขียนยุคแรกนี้เป็นอักษรของชาวสุเมเรียน ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ซึ่งเรียกว่า คูมิฟอร์ม (cuniform) หรืออักษรรูปลิ่ม อักษรรูปลิ่มเกิดจากการใช้ไม้เขียนลงแผ่นดินเหนียวเป็นภาพเขียน และค่อย ๆ พัฒนาการขึ้นเป็นการเขียนภาพแทนความคิด (ideographic) ต่อมาชาวอียิปต์ได้นำพืชน้ำชนิดหนึ่งคล้ายต้นกก เรียก papyrus มาทำเป็นวัสดุรองเขียน และได้สร้างตัวหนังสือขึ้นเรียกว่า hieroglyphs สำหรับเขียน หรือสลักตามอนุสาวรีย์ แล้วมีการพัฒนารูปแบบให้เป็นระเบียบและอ่อนช้อยขึ้น เรียกว่า hieratic และ demotic เพื่อใช้เป็นตัวหนังสือสำหรับเขียนเกี่ยวกับศาสนา และการเขียนในชีวิตประจำวันตามลำดับ ยุคภาษาเขียนนี้ วัสดุหลักที่ใช้ในการเขียนตัวหนังสือ คือ แผ่นหนัง หนังสือแต่ละเล่มจะเขียนด้วยลายมือ และทำเป็นรูปเล่มสวยงาม ยุคนี้ได้มีการสร้างห้องสมุดสำหรับเป็นที่จัดเก็บข้อมูลข่าวสารข้อมูลและความรู้
            3. ยุคที่ 3 ยุคของการพิมพ์ จากความต้องการหนังสือที่มากขึ้น ประกอบด้วย วัสดุรองเขียนราคาแพง หายาก เนื่องจากผลิตน้อย และต้องใช้แรงงานคนเขียนจำนวนมาก ยุคนี้จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหนังสือที่มีต้นทุนต่ำ โดยในปี ค.ศ. 1453 โยฮานน์ กูเต็นเบิร์ก ได้คิดวิธีการพิมพ์ โดยถอดแต่ละตัวอักษรที่ใช้พิมพ์แล้วออกมาเป็นตัว ๆ สำเร็จ ทำให้สามารถจัดเรียงและพิมพ์หนังสือเล่มได้คราวละจำนวนมาก นอกจากนี้ กูเต็นเบิร์กยังได้ประดิษฐ์แม่พิมพ์สำหรับหล่อตัวพิมพ์โลหะและหมึกพิมพ์ เทคโนโลยีทางการพิมพ์ทำให้เกิดการผลิตเอกสารในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ และตำรา ฯลฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกระจายข่าวสาร และการบันทึกข้อมูลเพื่อเผยแพร่อ้างอิง ส่งผลให้การศึกษาขยายขอบเขตออกไปสู่มวลชน มีการจัดรูปแบบการศึกษาที่เป็นระบบ อัตราการรู้หนังสือของประชาชนจึงเพิ่มขึ้น เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์แพร่ขยายไปยังประเทศฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์ สเปน อังกฤษ จนถึงประเทศอิตาลี ทำให้มีการดำเนินการพิมพ์ในรูปของธุรกิจสมัยใหม่ มีการกำหนดมาตรฐานของตัวพิมพ์ และพัฒนาปรับปรุงด้านอื่น ๆ ของการพิมพ์ จนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ระบบไปรษณีย์ก็เริ่มพัฒนาขึ้น มีการบริการจัดส่งข่าวสารในรูปของจดหมายทั่วยุโรป สามารถกล่าวได้ว่า ในยุคการพิมพ์นี้เป็นการเริ่มต้นสู่ยุคสื่อสารมวลชน เนื่องจากสามารถผลิตและส่งสารไปยังผู้รับจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วกว่าในยุคต้น ๆ
            4. ยุคที่ 4 โทรคมนาคม จากการค้นพบปรากฏการณ์ทางแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น อุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะในการสื่อสารระหว่างมนุษย์ที่อยู่ไกล ๆ กัน ให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งแบบที่ใช้สายเชื่อม เช่น โทรโข่ง โทรเลข โทรศัพท์ และแบบที่ไร้สายเชื่อม เช่น วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์เป็นต้น
            5. ยุคที่ 5 การสื่อสารสมัยใหม่ หรือยุคของการปฏิวัติทางการสื่อสาร การสื่อสารสมัยใหม่เริ่มต้นประมาณ 60 กว่าปีมาแล้ว สืบเนื่องจากการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกสำเร็จที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (ค.ศ. 1946) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการนำไมโครคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นระบบเครือข่าย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน เพิ่มการใช้งานด้านต่าง ๆ มีการแบ่งอุปกรณ์กันใช้งาน มีการใช้ข้อมูลร่วมกัน และสามารถทำงานร่วมกันได้ เทคโนโลยีการสื่อสารที่สำคัญในยุคนี้ คือ การสื่อสารผ่านดาวเทียม (satellite)
            การสื่อสานผ่านดาวเทียมเริ่มเมื่อสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมดวงแรกชื่อ sputnik ขึ้นไปโคจรในอวกาศเมื่อปี ค.ศ. 1957 ดาวเทียมที่ส่งขึ้นไปโคจรนอกโลกนั้น มีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกัน และทำหน้าที่รับและถ่ายทอดรหัสสัญญาณ ดาวเทียมยังเป็นอุปกรณ์เชื่อมโยงระบบโทรศัพท์ทางไกล รายการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการสื่อสารระยะไกลให้สะดวกและคล่องตัวขึ้น เช่น การสื่อสารไร้สาย (wireless communication) หรือการแปลงคลื่นเสียงให้อยู่ในรูปของสัญญาณคลื่นวิทยุ วิทยุติดตามตัว (radio paging system) โทรศัพท์ไร้สาย (wireless telephone) โทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile telephone) และที่สำคัญ คือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต
            สามารถสรุปได้ว่า วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศจากยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิตอลมีความเป็นมาที่ยาวนานกว่าที่จะเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในยุคปัจจุบัน บางช่วงเวลาใช้การคิดค้นเป็นเวลานานหลายสิบปี โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก บางช่วงจะพบว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นช่วงที่มีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก และเข้าสู่ยุคปัจจุบัน สังเกตได้ว่ามีการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์ออกมามากมาย ซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของระบบคอมพิวเตอร์และวิวัฒนาการของระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ช่วยให้มองเห็นภาพในอนาคตได้เป็นอย่างดี สามารถระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมต่อไป


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม

พรรณี สวนเพลง. (2552). เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้.   
          กรุงเทพมหานคร
: บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น